[ URL ของหน้านี้ : https://propsops.com/event/regulation ]

■ ความเป็นมา

ตารางงานคอสเพลย์มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการดูกำหนดการของงานคอสเพลย์และเป็นสื่อกลางช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น คนไปงานรู้ว่างานจัดวันใดและผู้จัดงานทราบได้ว่าวันไหนมีงานอะไรอยู่แล้วเพื่อหลีกเลี่ยงกำหนดการซ้ำซ้อน

เป็นสื่อทางเลือกสำหรับงานที่เหล่าคนการ์ตูน คอสเพลย์ ฯลฯ จัดกันขึ้นมา เช่น งานโดจินชิ งาน Only Event ที่อาจจะไม่สามารถประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใหญ่ได้ เช่น ตามวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สำนักข่าวใหญ่
และเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ตรงกลุ่มเป้าหมายชาวคอสเพลย์โดยเฉพาะ

ตารางงานคอสเพลย์ได้มีการพัฒนามาโดยตลอด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมคอสเพลย์ ทั้งปริมาณงาน รูปแบบงาน ลักษณะงาน ฯลฯ และหวังที่จะให้ตารางงาน ดูง่าย เข้าใจง่าย รายละเอียดครบ ให้มากที่สุด

โดยปัจจุบัน งานที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับคอสเพลย์นั้น มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น มากกว่าเป็นเพียงงานการ์ตูน หรือ งาน J-Rock อย่างที่เคยเป็นแต่ดั้งเดิม รวมไปถึงงานที่นำคอสเพลย์ไปเป็นกิจกรรมภายในงาน ซึ่งในบางกรณีอาจนำคอสเพลย์ไปใช้โดยไม่คำนึงถึงความหมายของคอสเพลย์ที่ควรเป็น

เพื่อสร้างมาตรฐานของตารางงานคอสเพลย์ ที่จะเป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์ งานการ์ตูน หรืองาน J-Rock หรืองานอื่น ๆ ที่เหมาะแก่การสนับสนุนให้คอสเพลย์ไปงานอย่างที่ควรเป็น เพื่อคัดกรองและส่งเสริมงานที่มีกิจกรรมตรงกับนิยามคอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบโดยไม่บิดเบือน และเป็นเกณฑ์พิจารณาที่เป็นกลาง เป็นธรรม เป็นมาตรฐานสำหรับพิจารณาทุก ๆ งานไม่ว่าจะงานใหญ่ งานเล็ก ให้อยู่ในบรรทัดฐานเท่าเทียมกัน

■ FAQ ข้อควรรู้

► ไม่ว่าจะเป็นงานรูปแบบไหน ขอเพียงมีกิจกรรมคอสเพลย์ภายในงาน โดยคอสเพลย์จะเป็นกิจกรรมหลักหรือรอง ถือว่าเข้าข่ายที่จะพิจารณาขึ้นตารางงานได้
[ งานการ์ตูน, งานเกม, งานคอมมิคคอน, งานสไตล์ญี่ปุ่น, งานเจร็อค, งานโดจินชิ, งานมหกรรมต่าง ๆ, งาน Pop Culture, งาน Only Event ฯลฯ ]


► "ฟรี" การนำงานขึ้นตารางงานไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ขอแค่ว่างานผ่านเกณฑ์ตารางงาน

► ตารางงานจะพิจารณา 2 ขั้นตอน คือ
1. พิจารณาทุกงานใน "เกณฑ์พิจารณางานโดยรวม"
2. พิจารณาแยกตามประเภทงาน โดยแบ่งเป็น
- Cosplay OK: งานที่เชิญชวนคนคอสเพลย์ร่วมงาน
- Cosplay Contest: งานที่มีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ภายในงาน

► "Relax" แม้เกณฑ์ตารางงานจะมีหลายข้อจนอาจจะสับสน อย่ากังวลไป สามารถติดต่อทางเว็บได้โดยตรงผ่านช่องทาง E-Mail, Messenger, Contact Form และช่องทางอื่น ๆ เพื่อติดต่อสอบถาม หากงานที่ติดต่อมาผ่านเกณฑ์ก็จะสามารถนำงานขึ้นตารางงานได้เลย หากงานไหนติดต่อมายังไม่ผ่านเกณฑ์ ทางเว็บจะแจ้งในจุดที่สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ได้



โดยทุกงานที่ต้องการขึ้นตารางงานนั้น จะใช้หลักเกณฑ์พิจารณางานโดยรวม ในการพิจารณาเป็นลำดับแรกก่อน
แล้วจึงแยกใช้เกณฑ์ระหว่างงานที่มีประกวดคอสเพลย์และไม่มีประกวดคอสเพลย์

สำหรับงานเชิญชวนคอสเพลย์ร่วมงานทั่วไปที่ไม่มีประกวดคอสเพลย์ในงาน จะใช้เกณฑ์สำหรับงาน Cosplay OK
สำหรับงานที่มีประกวดคอสเพลย์ภายในงาน จะใช้เกณฑ์สำหรับงาน Cosplay Contest

■ เกณฑ์พิจารณางานโดยรวม

  • 1.งานที่มีกิจกรรมคอสเพลย์ โดยยึดหลักนิยามของคอสเพลย์ คือการแต่งกายเลียนแบบสวมบบาทต้นแบบ

    "คอสเพลย์" หมายถึงการแต่งกายเลียนแบบสวมบทบาทตัวละคร การ์ตูน เกม ภาพยนตร์ J-Rock หรือต้นแบบทางการอื่น ๆ เป็นต้น

    "ต้นแบบ" หมายถึงตัวละครที่ถูกออกแบบมาอย่างเป็นทางการ หรือเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วไปในระดับหนึ่ง มิใช่ ตัวละครออริจินอลที่ออกแบบดีไซน์หรือคิดขึ้นมาเอง

    ในกรณีของคอสเพลย์ที่มีการดัดแปลงจากต้นแบบ เช่น แฟนอาร์ต, สลับเพศ, แนวล้อเลียน ฯลฯ นั้น ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการดัดแปลงอ้างอิงจากต้นแบบทางการที่มีอยู่จริง มิใช่ การสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่เองทั้งหมด


  • 2.รูปแบบการจัดงานมีการจัดเตรียมสถานที่และบุคคลทั่วไปทุกเพศ ทุกวัยสามารถร่วมงานได้

    • งานได้มีการติดต่อ ขออนุญาต หรือ เช่าพื้นที่สถานที่เพื่อจัดงานแล้ว กรณีที่งานไปใช้พื้นที่ใดก็ตามโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่อย่างเป็นทางการ ทางตารางงานอาจพิจารณาว่า งานเป็นเพียงการพบปะ (Meeting) และไม่สามารถนับเป็นงาน (Event) ได้

    • กิจกรรมใด ๆ ที่ไม่มีสถานที่จัดงาน แต่เป็นกิจกรรมออนไลน์ เช่น การประกวดคอสเพลย์ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ Social Network ต่าง ๆ จะไม่พิจารณาด้วยไม่ได้เป็นรูปแบบงานคอสเพลย์ ยกเว้นแต่ว่าเป็นกิจกรรมออนไลน์ที่มีความเกี่ยวข้องถึงการจัดงาน เช่น กิจกรรมโหวตออนไลน์เพื่อคัดเลือกไปประกวดคอสเพลย์ในงานอีกที

    • งานมีลักษณะเป็นงานเปิดที่บุคคลทั่วไปโดยเนื้อหาที่ทุกเพศ ทุกวัยสามารถไปร่วมงานได้

    • ในกรณีงานเป็นลักษณะงานปิด เช่น งานมีตติ้ง งานเฉพาะกลุ่มบุคคล งานภายในกลุ่มองค์กร เช่น งานเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย ฯลฯ ทางตารางงานขอสงวนสิทธิ์ไม่นำงานขึ้นตารางงาน ด้วยคนทั่วไปไม่สามารถไปร่วมงานได้



  • 3.งานต้องมีช่องทางประชาสัมพันธ์ทางการของงานที่เชื่อถืออ้างอิงได้ และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สร้างความเชื่อถือได้ว่าจะมีการจัดงานจริง

    มีช่องทางติดต่อหรือประชาสัมพันธ์ที่เป็นทางการของงาน ซึ่งสามารถเชื่อถือได้ อ้างอิงรายละเอียด กฎ กติกา ต่าง ๆ ภายในงานได้ เช่น เว็บไซต์, Blog, Social Network ต่าง ๆ

    สำหรับ Social Network นั้น ทางเว็บจะให้น้ำหนักทางการนั้นต้องเกี่ยวข้องในฐานะเป็นของทีมงาน, ของสถานที่จัดงาน
    ในกรณีเป็น Social Network ส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แม้จะเป็นหนึ่งในทีมผู้จัดงาน ก็จะให้น้ำหนักที่น้อยมาก ๆ ที่จะถือว่าเป็นรายละเอียดทางการ

    ในกรณีมีหลายช่องทางทางการและข้อมูลขัดแย้งกัน ตารางงานจะยึดถือน้ำหนักข้อมูล เรียงตามจากมากถึงน้อยดังนี้
    เว็บไซต์งาน หรือ Blog > Social Network : Facebook > Twitter > ETC

    ข้อมูลสำคัญที่สร้างความน่าเชื่อถือได้ว่าจะมีการจัดงาน เช่น
    วันที่จัดงาน สถานที่จัดงาน และรวมไปถึงความเคลื่อนไหว อัพเดตของตัวงาน ที่สร้างความน่าเชื่อถือได้ว่าจะมีการจัดงาน ซึ่งเป็นกิจของผู้จัดงาน ที่จะต้องแสดงถึงความคืบหน้า การประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าจะมีงานนั้น ๆ จัดจริง เช่น โปสเตอร์งาน การอัพเดตข่าวสารงานเป็นระยะ การเคลื่อนไหวของผู้จัดซึ่งแสดงถึงการเชื่อถือได้ว่ามีการจัดงานจริงในวันงานและสถานที่จัดงานที่ได้ประกาศ

    ทั้งนี้ รายละเอียดที่มาช่วยประกอบยืนยันการจัดงาน เช่น งานจัด ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง หากเพจหรือเว็บไซต์ห้างสรรพสินค้างานนั้น ๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย ก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากในการยืนยันการจัดงาน

    ความน่าเชื่อถือของผู้จัดงาน ยิ่งผู้จัดงานไหน จัดงานต่อเนื่องและเป็นไปได้ด้วยดีโดยตลอด ก็ยิ่งมีความเชื่อถือ(เครดิต) สะสมสูงมากยิ่งขึ้น

    ทั้งนี้ ยิ่งมีองค์ประกอบตามที่กล่าวไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้งานสามารถยืนยันได้ง่ายขึ้นในตารางงาน


  • 4.งานต่างจังหวัด ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯและปริมณฑล อาจมีอนุโลมลดกฎเกณฑ์ลงในรูปแบบของการจัดงานได้

    เนื่องจากงานในต่างจังหวัดมีจำนวนไม่มากต่อปี และงานอาจมีลักษณะรูปแบบที่แตกต่างจากงานในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นการอนุโลมในเชิงของรูปแบบงาน วิธีการจัดงาน วิธีประชาสัมพันธ์งาน ฯลฯ แต่จะไม่อนุโลมในกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดหรือบิดเบือนนิยามของคอสเพลย์

    อนึ่ง เกณฑ์พิจารณาข้อนี้จะคำนึงถึง "จำนวนครั้งที่จัดต่อปี" ของจังหวัดนั้น ๆ ประกอบ และจำนวนครั้งที่งานนั้น ๆ ได้รับการอนุโลม เนื่องจากการอนุโลมลดกฎเกณฑ์บ่อยครั้งเกินไป อาจเป็นการทำให้งานในจังหวัดนั้น ๆ ไม่พัฒนา ปรับปรุงรูปแบบของงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นได้


  • 5.Props&Ops มีสิทธิในการพิจารณาขั้นสุดท้ายถึงงานใด ๆ ที่จะได้ขึ้นตารางงานหรือไม่

    ทั้งนี้ ดุลยพินิจหลักคือ ตารางงานต้องการที่จะช่วยเหลือประชาสัมพันธ์งานที่ใช้คำว่าคอสเพลย์ได้อย่างถูกต้องตามนิยาม รวมไปถึงลักษณะงานที่เหมาะสมต่อผู้เข้าร่วมงานทุกเพศ ทุกวัย โดยชัดเจนว่างานมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถยืนยันจัดงานจริง

    หากพบเหตุ เช่น ข้อมูลปลอม, เจตนาหลอกลวงว่ามีการจัดงาน งานทุกงานของผู้จัดนั้น ๆ ที่จะจัดต่อไปในอนาคตจะถูกระงับ (BAN) ในเว็บไซต์แห่งนี้

    งานที่มีเนื้อหาใด ๆ ที่มีอาจมีผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อภาพลักษณ์หรืออื่นใดในสังคมคอสเพลย์ ไม่เหมาะสมหรือสุ่มเสี่ยงการกระทำผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด ทางเว็บจะพิจารณาไม่นำงานที่มีเนื้อหาเหล่านี้ขึ้นตารางงาน

    สำหรับงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือ มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถจัดงานได้ หรือเลื่อนงานโดยที่มีการประกาศแจ้งล่วงหน้านั้น ไม่ถือว่าเข้าข่ายการถูกระงับ ด้วยเจตนาของกฎนี้เพื่อลงโทษงานที่มีเจตนาหลอกลวง ส่วนการที่งานไม่ผ่านเกณฑ์ หรือ ยกเลิกการจัดงาน/เลื่อนการจัดงานโดยมีการประกาศล่วงหน้า ถือเป็นเหตุปกติ สุดวิสัยที่เกิดขึ้นได้


  • 6.ในกรณีที่งานใด ๆ ไม่ได้ถูกนำขึ้นตารางงาน อาจมีด้วยเหตุผลอื่นๆที่ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาดังนี้

    - ทางตารางงานไม่ทราบข้อมูล
    - ทางตารางงานไม่มั่นใจว่างานของผู้จัดนั้นเป็นงานปิดหรือเปิด หรือเฉพาะกลุ่ม (หากเป็นงานเปิดแต่ระบุไม่ขอขึ้นตารางงานก็จะไม่นำขึ้น)
    - ทางตารางงานไม่มั่นใจว่า ผู้จัดงานต้องงานเอางานขึ้นตารางงานหรือไม่

    เพื่อ ความสะดวกและประโยชน์สูงสุดของทั้งผู้จัดงานและคนร่วมงาน การแจ้งติดต่อมาโดยตรงจะเป็นการยืนยันถึงความต้องการงานขึ้นตารางงานได้



หลังจาก ใช้หลักเกณฑ์พิจารณางานโดยรวม ในการพิจารณาแล้ว
ก็จะแยกการพิจารณาระหว่างงานรูปแบบ Cosplay OK และ Cosplay Contest


งานที่มีการเชิญชวน เปิดโอกาสให้คอสเพลย์มาร่วมงาน เป็นสีสันของงาน
โดยงานไม่มีประกวดคอสเพลย์ในงาน

งานที่มีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ภายในงาน

■ เกณฑ์พิจารณางาน Cosplay OK

  • 1.งาน Cosplay OK หมายถึง งานที่เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาแต่งคอสเพลย์ร่วมงานได้

    โดยเป็นการเชิญชวนให้แต่งคอสเพลยมา์ร่วมงาน เดินเล่น ถ่ายรูป พบปะร่วมกิจกรรมเป็นสีสันในบริเวณจัดงาน หรือ อาจมีกิจกรรมสำหรับคอสเพลย์ เช่น กิจกรรมคอสเพลย์พาเหรด ฯลฯ
    (ในกรณีมีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ ทางตารางงานจะใช้เกณฑ์สำหรับงานประกวดคอสเพลย์ในการพิจารณา)


  • 2.งานต้องมีการประชาสัมพันธ์ ที่ให้ความสำคัญและแสดงให้เห็นถึงการเชิญชวนให้ทราบว่า บุคคลทั่วไปคอสเพลย์มางานได้อย่างชัดเจน

    โดยจะดูจากการประชาสัมพันธ์ว่าให้ความสำคัญในเรื่องของ "ความชัดเจน" และ "การให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญ" ต่อการเชิญชวนคอสเพลย์มาร่วมงาน

    ความชัดเจน
    หมายถึง การได้เห็นข้อความเชิญชวนหรือเข้าใจได้ง่ายว่างานนี้มีการเชิญชวนบุคคลมาคอสเพลย์มาร่วมงาน เช่น การระบุคำว่า Cosplay OK หรือ ข้อความเชิญชวนคนคอสเพลย์มาร่วมงาน ฯลฯ โดยอาจเป็นคำเชิญชวนปรากฎในเว็บไซต์งาน เพจงาน ในโปสเตอร์ หรืออื่น ๆ ที่มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้มีคอสเพลย์มาร่วมงาน เช่น การออกกฎ ระเบียบ การคอสเพลย์ร่วมงาน การบอกถึงพื้นที่สำหรับคอสเพลย์

    ทั้งนี้ ควรมีความชัดเจนในระดับที่ว่า "คนที่ไม่รู้จักงานนั้น ๆ สามารถอ่านรายละเอียดของงานและเข้าใจได้ง่ายว่า สามารถแต่งคอสเพลย์ไปร่วมงานได้" เช่น เมื่อเข้าเว็บไซต์ หรือ Social Network สามารถเห็นการระบุได้โดยง่ายเพียงการเลื่อนดูหรือ Click ไม่กี่ครั้ง

    โดยน้ำหนักของการเชิญชวนนั้น จะดูในส่วนของการประชาสัมพันธ์งานว่าได้ให้ความสำคัญต่อการเชิญชวน มากหรือน้อยเพียงใด เช่น งานมีระบุข้อความ Cosplay OK ในโปสเตอร์งาน ย่อมมีน้ำหนักชัดเจนกว่า การเขียนเป็นประโยคสั้น ๆ ในสเตตัสหนึ่งในเพจงาน เป็นต้น

    [ ในกรณี Facebook Page
    : แนะนำ - ให้ระบุในส่วนใดส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดทันทีเมื่อเข้าเพจ เช่น รูป Cover Page, Status ที่ Pin ไว้บนสุด
    : แนะนำรองลงมา - ในส่วนที่ต้องกดดูในส่วนต่าง ๆ เช่น About ของเพจ, Note ของเพจ
    : ไม่แนะนำ - ระบุแค่ใน Status เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปมีการโพสต์ Status ใหม่ ๆ สเตตัสที่ระบุไว้จะตกไป และกลายเป็นไม่เห็นว่ามีการระบุใด ๆ รวมไปถึงการบอกเฉพาะในช่องคอมเมนต์เวลามีคนมาสอบถาม ]

    ความชัดเจนในการเห็นได้โดยง่ายมีผลโดยตรงต่อในการพิจารณาเรื่อง "น้ำหนัก" ของการเชิญชวน



    ตัวอย่าง 2.1 - เว็บไซต์งาน Maruya มีการระบุ Cosplay OK ชัดเจน
    ตัวอย่าง 2.2 - เว็บไซต์งาน COSCOM มีการระบุข้อปฎิบัติคอสเพลย์ในงาน แสดงให้เห็นการให้ความสำคัญของการชวนคอสเพลย์ร่วมงาน
    ตัวอย่าง 2.3 - เว็บไซต์งาน Sundae Free Market มีการระบุข้อความ Cosplay - OK

    ตัวอย่าง 2.4 - Facebook งาน Strike Out Daiya no A Only Event มีการระบุข้อความ Cosplay OK ในส่วนของ About Page
    ตัวอย่าง 2.5 - Facebook งาน COSCOM มีการระบุข้อความ Cosplay OK ในรูป Cover Page


    *อนึ่ง ในปัจจุบันมีงานที่ระบุ "ห้ามคอสเพลย์ร่วมงาน (No Cosplay) " ดังนั้น การระบุเชิญชวนคอสเพลย์ร่วมงาน หรือ Cosplay OK นั้นจึงยิ่งมีความสำคัญในการให้ความชัดเจนว่างานไหนเชิญชวนคอสเพลย์ร่วมงาน และช่วยให้การพิจารณางานนั้นมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่สับสนหรือระบุไม่ได้ว่า งานอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คอสเพลย์ร่วมงาน


    ตัวอย่าง 2.4 - Facebook ของงานมีการระบุ No Cosplay ชัดเจน แม้จะเป็นรูปแบบงานที่ปกติสามารถผ่านเกณฑ์ได้ง่าย ทางตารางงานก็จะไม่นำขึ้นตารางงาน


  • "การให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญ"
    หมายถึง การที่งานแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่างานให้ความสำคัญต่อการ "เชิญชวนคอสเพลย์มาร่วมงาน" ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงให้กิจกรรมคอสเพลย์เป็นกิจกรรมที่ต้องสำคัญที่สุดในงาน แต่หมายถึงว่า กิจกรรมคอสเพลย์ได้รับการประชาสัมพันธ์ ในระดับที่เทียบเท่าหรือด้อยกว่าไม่ได้มากจนเกินไปเมื่อเทียบกับการประชาสัมพันธ์กิจกรรมอื่น ๆ เช่น

    ตัวอย่างที่ 1: งานประชาสัมพันธ์โดยมีโปสเตอร์งาน มีการระบุกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ Cover Dance, Free Stage, Anisong, Cosplay OK ในที่นี้ถือว่างานได้แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อกิจกรรมคอสเพลย์ในระดับเทียบเท่ากับกิจกรรมอื่น ๆ จึงถือว่างานได้ให้ความสำคัญเพียงพอ

    ตัวอย่างที่ 2: งานประชาสัมพันธ์โดยมีโปสเตอร์งาน มีการระบุกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ Cover Dance, Free Stage, Anisong เท่านี้และไม่ได้มีการพูดถึงคอสเพลย์ใด ๆ ในตลอดระยะเวลาประชาสัมพันธ์งานและท้ายสุดมีเพียงข้อความเล็ก ๆ ตอบในคอมเมนต์ว่า "คอสเพลย์มางานได้" ในกรณีนี้ ตารางงานอาจสงสัยในเรื่องการให้ความสำคัญว่าทำไมถึงไม่ประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นและเทียบเท่ากับกิจกรรมอื่น ๆ

  • 3.งานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับต้นแบบในการคอสเพลย์แต่งตัวเลียนแบบ จะได้รับการพิจารณาผ่านขึ้นตารางงานโดยง่าย

    เช่น งานการ์ตูน อนิเมะ, งานออกบูธโดจินชิ, งาน Only Event, งาน J-Rock, งานเกม ซึ่งชัดเจนว่าการคอสเพลย์นั้นมีการเลียนแบบการ์ตูน เกม เนื้อหาเดียวกับงาน เป็นต้น รวมไปถึงงานที่สามารถเทียบกับงานในอดีตที่เคยผ่านเกณฑ์ตารางงานได้ว่าเป็นรูปแบบงานเดียวกัน


  • 4.งานที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์โดยตรงจะพิจารณาแต่ละงานไป

    เช่น งานสไตล์ญี่ปุ่น งานออกร้าน หรือ งานนิทรรศการทั่วไป จะมีการพิจารณาเป็นกรณีแต่ละงานไป โดยยึดหลักการพิจารณา ว่าให้ความสำคัญกับคอสเพลย์ที่ไปร่วมงานมาก/น้อยเพียงใด และลักษณะเนื้อหางานเหมาะแก่การที่จะมีคอสเพลย์ไปร่วมงานหรือไม่ และไม่ขัดกับข้ออื่น ๆ


  • 5.การจัดแสดงโชว์คอสเพลย์,ว่าจ้างคอสเพลย์ไปออกงานหรือออกบูธ รวมไปถึงการเตรียมบุคคลมาคอสเพลย์ในฐานะผู้รับจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือแขกรับเชิญของงาน (Guest Cosplayer) ไม่ได้ถือว่าเป็นงานคอสเพลย์ที่ผานเกณฑ์โดยอัตโนมัติ

    แม้จะมีการจัดเตรียมคอสเพลย์ในงาน แต่ตารางงานจะไม่ใช่ส่วนนี้ในการนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณางาน
    ด้วยตารางงานเน้นที่การเปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมงานคอสเพลย์ มากกว่า การที่งานได้มีการเตรียมคนคอสเพลย์ไว้ภายในงาน


  • 6.แม้จะระบุว่าเป็นงาน Cosplay OK แต่หากงานนั้นมีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ภายในงาน ก็จะพิจารณาเป็นงานประกวดคอสเพลย์

    ทางตารางงานจะพิจารณาตามเกณฑ์ของงานประเภทประกวดคอสเพลย์ เช่น กฎ กติกา เกณฑ์การตัดสินของการประกวดเป็นหลัก แม้ว่าการประชาสัมพันธ์งานจะมีระบุหรือเน้นที่ Cosplay OK ก็ตาม

    หากพิจารณารายละเอียดและพบว่าเกณฑ์การประกวดคอสเพลย์นั้นไม่ผ่าน แม้จะมีการประกาศว่า Cosplay OK เชิญคอสเพลย์มาร่วมงานได้ ก็ไม่ถือว่าสามารถผ่านเกณฑ์ในฐานะงาน Cosplay OK เพราะถือพิจารณาในประเภทงานประกวดคอสเพลย์เป็นหลัก ด้วยป้องกันช่องทางที่อาจจะทำให้งานที่ระบุ Cosplay OK ผ่านขึ้นตารางงาน โดยแฝงกิจกรรมการประกวดคอสเพลย์ที่กติกาไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาได้


    ■ เกณฑ์พิจารณางาน Cosplay Contest

  • 1.งาน Cosplay Contest นั้นหมายถึง งานที่มีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์โดยตรงกับนิยามความหมายของคอสเพลย์

    อันหมายถึง คอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบต้นแบบสวมบทบาท โดยต้นแบบนั้นต้องเป็นต้นแบบทางการ (Official) ที่เป็นที่รู้จักและรับรู้ทั่วไป มิใช่ การประกวดแต่งกายอื่น ๆ เช่น แฟนซี, แฟชั่น หรือ การประกวดชุดโดยไม่มีต้นแบบ

    ในกรณีการคอสเพลย์ที่ดัดแปลงจากต้นแบบ เช่น แฟนอาร์ต, สลับเพศ, แนวล้อเลียน ฯลฯ สามารถผ่านเกณฑ์ในส่วนนี้ได้ แต่ต้องมีกฎ เกณฑ์ กติกาที่เขียนอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นการดัดแปลงโดยอ้างอิงจากต้นแบบที่เป็นทางการ มิใช่ การสร้างตัวละครที่คิดขึ้นมาเอง

    (ในกรณีคอสเพลย์ที่ดัดแปลงต้นแบบนั้น ทางตารางงานแนะนำ ว่าถ้าแยกประเภทการประกวดออกจากการประกวดคอสเพลย์ตามนิยามปกติ อาจจะดีกว่า เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสองรูปแบบนี้)


  • 2.ต้องมีกรอบของ กฎ เกณฑ์ กติกาและการตัดสินที่ให้ความสำคัญเรื่อง "ความเหมือนต้นแบบ" ที่ขาดไม่ได้

    อยู่ในรูปแบบที่ชัดเจนและมีน้ำหนักมากพอว่า มีเกณฑ์ของการให้คะแนนประกวดแต่งกายเลียนแบบเป็นสำคัญ
    โดยการพิจารณางานนั้น จะดูจากเกณฑ์การประกวด วิธีสมัคร ใบสมัคร กติกา วิธีการประกวด และ วิธีการตัดสิน ตามที่งานนั้น ๆ ประกาศออกมาว่าเชื่อมโยงและอยู่ในกรอบของคอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบไหม

    ทางตารางงานต้องการเห็นเจตนาอันชัดเจนว่าการประกวดคอสเพลย์นั้น ให้ความสำคัญเรื่อง "การคอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบต้นแบบทางการ มิใช่ คิดตัวละครขึ้นมาเอง รวมไปถึง มีการให้คะแนนความเหมือนต้นแบบทางการ"

    เช่น
    - มีการระบุเกณฑ์ "ต้องคอสเพลย์จากตัวละครใน เกม การ์ตูน อนิเมะ" เป็นต้น
    - มีการระบุเกณฑ์ "ชุดต้องเป็นต้นแบบทางการ ไม่ใช่ชุดที่ออกแบบ ดีไซน์ คิดขึ้นมาเอง"
    - มีการระบุให้คะแนน "ความเหมือนต้นแบบ"
    - มีช่องให้ระบุชื่อตัวละครและเรื่องที่จะคอสเพลย์ในใบสมัคร


    ตัวอย่าง 2.1 - กติกางาน Japan Festa in Bangkok 2013 ระบุถึงความเหมือนอันตรงกับนิยามของคอสเพลย์
    ตัวอย่าง 2.2 - กติกาจากงาน D'Cos Festival 2nd ระบุถึงการแต่งกายเลียนแบบต้นแบบ
    ตัวอย่าง 2.3 - เกณฑ์การให้คะแนนของงาน MOL Let's Play มีระบุถึงเกณฑ์คะแนนความเหมือน และมีการระบุจำนวนคะแนนชัดเจน
    ตัวอย่าง 2.4 - เกณฑ์กติกาและการตัดสินจากงาน Enter Books Cosplay มีการระบุถึงความเหมือนต้นฉบับ และเกณฑ์การให้คะแนนความเหมือน



    ตัวอย่าง 2.5 - กติกางาน Thailand Game Expo 2020 มีครบ 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ เกณฑ์ต้นแบบที่เป็นทางการ / การห้ามชุดที่ออกแบบขึ้นมาเอง / เกณฑ์การให้คะแนนความเหมือน

  • 3.ขั้นตอนของการแข่งขัน ตั้งแต่การรับสมัคร กติกา การประกวดในงาน หรือออดิชั่น ต้องอยู่ในกรอบนิยามของคอสเพลย์

    หากในขั้นตอนใด ๆ มีส่วนที่ไม่ถูกต้องต่อนิยามของการประกวดคอสเพลย์ เช่น ในช่วงออดิชั่น มีการคัดเลือกโดยไม่สนใจเรื่องความเหมือน ถือว่ากระบวนการประกวดคอสเพลย์ทั้งหมดของงานนั้น ๆ ไม่สมบูรณ์แต่ต้น เป็นผลว่ากระบวนการนั้นผิดต่อนิยามของการประกวดคอสเพลย์


  • 4.วิธีการตัดสินของการประกวดคอสเพลย์นั้น จะต้องมีการให้คะแนนหรืออยู่ในกรอบของนิยามคอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบ

    - รูปแบบการตัดสินโดยใช้กรรมการ จะต้องมีเกณฑ์คะแนนที่ให้ความสำคัญต่อความเหมือนต้นฉบับ หรือ อื่น ๆ ที่สื่อถึงการแต่งกายเลียนแบบ เช่น คะแนนการสวมบทบาทตัวละคร คะแนนการสื่อถึงตัวละครต้นแบบ ฯลฯ

    - รูปแบบการตัดสินโดยการโหวต ทั้งการโหวตผ่านทางเว็บไซต์ หรือ การโหวตภายในงานนั้น คะแนนไม่ได้สื่อถึงการให้คะแนนเกี่ยวกับความเหมือนได้โดยตรง ในจุดนี้ ทางตารางงานจะดูที่ เกณฑ์การประกวดแต่ต้นนั้น มีการระบุให้แต่งกายเลียนแบบต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน
    เช่น หากการประกวดระบุว่าต้องแต่งกายเลียนแบบตัวละครต้นฉบับ ก็ถือว่า ทุกคนในการประกวดแบบโหวตเป็นคอสเพลย์ที่ตรงกับนิยามของคอสเพลย์ กลับกัน หากไม่มีเกณฑ์เรื่องต้นแบบชัดเจน หากมีผู้ประกวดที่ใช้เครื่องแต่งกายที่ไม่ได้มีต้นแบบใด ๆ เลยลงประกวด การโหวตนั้น ๆ ก็จะไม่เกี่ยวโยงกับนิยามของการคอสเพลย์


  • 5.การพิจารณางานจะให้ความสำคัญในน้ำหนักสัดส่วนระหว่าง "เกณฑ์ของต้นแบบ" และ "เกณฑ์การให้คะแนน" ควบคู่กัน

    โดยเรื่องของต้นแบบจะเป็นไปตามข้อ 2 และเกณฑ์การให้คะแนนจะเป็นไปตามข้อ 4
    กล่าวคือ กฎ กติกางานไหนที่มีน้ำหนักของ 2 หมวดนี้มากพอ ก็จะผ่านได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ในบางกรณีที่งานขาดหรือบกพร่องในหมวดใดหมวดหนึ่ง ทางตารางงานจะดูอีกหมวดหนึ่งว่าสามารถทดแทนได้หรือไม่ เช่น

    ⏺ งานไหนไม่มีเขียนถึงเกณฑ์ต้นแบบเลย ต่อให้มีคะแนนความเหมือนก็ไม่สามารถผ่านได้ เพราะต้นแบบอิสระจนช่องคะแนนนี้อาจไม่มีความหมาย อาจมีคนใช้ชุดที่คิดขึ้นเองมาประกวดและอ้างว่าคอสมาจากต้นแบบที่ตัวเองคิดขึ้นมาเอง

    ⏺ งานไหนมีกฎเรื่องต้นแบบแต่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่มีระบุเรื่องคะแนนความเหมือนชัดเจน ก็สามารถผ่านได้

    ⏺ งานไหนมีกฎเรื่องต้นแบบชัดเจน แต่ไม่ได้ระบุเรื่องการให้คะแนน ยังพอจะผ่านได้เพราะถือว่ามีกรอบต้นแบบชัดเจน

    ⏺ งานไหนมีกฎเรื่องต้นแบบชัดเจน ระบุการให้คะแนนแต่ไม่มีคะแนนความเหมือน ไม่สามารถผ่านได้เพราะถ้าไม่มีเรื่องคะแนนความเหมือน กรอบต้นแบบก็ไม่ได้มีความหมาย

    โดยสรุปคือ ทางตารางงานจะพิจารณา 2 หมวดนี้ควบคู่กันไป หากหมวดใดหมวดหนึ่งน้ำหนักน้อยไป ก็จะดูน้ำหนักของอีกหมวดว่าสามารถทดแทนได้มากพอหรือไม่


  • 6.กฎ กติกา เกณฑ์การประกวดคอสเพลย์ต้องมีการประกาศล่วงหน้าก่อนถึงวันจัดงานไม่น้อยกว่า 7 วัน

    มิเช่นนั้น ตารางงานจะไม่รับพิจารณาการขึ้นตารางงาน แม้ว่า ตัวเนื้อหากติกานั้น ๆ จะผ่านเกณฑ์ตารางงาน โดยจะยึดนับจากวันแรกที่กติกาที่ผ่านเกณฑ์ประกาศสู่สาธารณะ


  • 7.กรณีงานที่กติกาหรือเกณฑ์การประกวดมีปัญหาหรือช่องโหว่ของกติกา อันมีช่องที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม หรือ ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้เปรียบเสียเปรียบ อย่างชัดเจน ชัดแจ้ง

    ทางตารางงานขอสงวนสิทธิในการนำงานขึ้นตารางงาน แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกณฑ์นิยามของคอสเพลย์ ด้วยตารางงานต้องการสนับสนุนให้การประกวดมีมาตรฐานการที่ทุก ๆ คนสามารถยอมรับได้

    ทั้งนี้หากงานใดไม่ผ่านเกณฑ์ในข้อนี้ งานนั้น ๆ สามารถติดต่อสอบถามมาได้ โดยทางตารางงานยินดีที่จะชี้ถึงจุดบกพร่องของกติกาให้กับทางผู้จัดงาน

    อนึ่ง เป็นดุลยพินิจของทางตารางงานที่จะพิจารณาว่าช่องโหว่นั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ ด้วยเข้าใจว่าทุกงานนั้นล้วนอาจมีจุดบกพร่องได้เสมอ ไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้อย่างไร้จุดบกพร่อง หากเป็นข้อบกพร่องที่ไม่กระทบต่อความได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือเปิดช่องต่อการกระทำใด ๆ ที่ไม่ยุติธรรม ทางตารางงานจะไม่ถือว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ในข้อนี้


  • 8.กิจกรรมประกวดอื่น ๆ ที่ระบุให้คอสเพลย์ร่วมกิจกรรมนั้น จะพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นประกวดคอสเพลย์หรือไม่

    เช่น การประกวดร้องเพลงโดยให้คอสเพลย์มาประกวด, การประกวดเต้นโดยให้ใส่ชุดคอสเพลย์ ซึ่งจุดมุ่งหมายของการประกวดนั้น ไม่ได้ให้สาระสำคัญต่อความเหมือนเท่าไหร่นัก
    ในกรณีนี้จะดูจากเจตนาของงานว่าประกาศว่าเป็น "การประกวดชนิดใด" เช่น

    การประกวดร้องเพลงที่ให้ใส่ชุดคอสเพลย์ โดยมีคะแนน เสียงร้อง, การแสดง, เนื้อร้องถูก
    หากระบุชื่อกิจกรรมว่า "ประกวดร้องเพลงอนิเมะ" จะถือว่าไม่ใช่ประกวดคอสเพลย์ และจะพิจารณาในฐานะกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับคอสเพลย์ในฐานะงาน Cosplay OK
    หากระบุชื่อกิจกรรมว่า "ประกวดคอสเพลย์" จะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาทันที ด้วย กฎ กติกา และการตัดสินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเหมือนใด ๆ

    เหตุที่ระบุเช่นนี้ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลทั่ว ๆ ไป เข้าใจผิดต่อรูปแบบของการประกวดคอสเพลย์


  • 9.กิจกรรมประกวดคอสเพลย์ต้องอนุญาตให้ผู้สนใจหรือบุคคลทั่วไปสามารถสมัครได้

    เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปหรือผู้สนใจสามารถสมัครได้ ไม่ใช่งานที่เปิดรับเฉพาะกลุ่ม เช่น จากโรงเรียน บริษัท หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะกลุ่มจำกัดเท่านั้น

    แต่ไม่รวมถึงการจำกัดในรูปแบบของการแบ่งประเภทการประกวด อาทิ การประกวดเด็กรุ่นอายุจำกัด เป็นต้น
    โดยสรุปคือ การประกวดคอสเพลย์ในตารางงานนี้คืองานที่คนทั่วไปมาเห็นแล้วสามารถลงสมัครได้

  • 10.งานประกวดคอสเพลย์จะเปิดให้มีส่วนคอสเพลย์ร่วมงานส่วนอื่น ๆ หรือ Cosplay OK หรือไม่ก็ได้

    กล่าวคือ หากงานมีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ในงาน ก็สามารถที่จะมีการเชิญชวนคอสเพลย์ร่วมงาน ( Cosplay OK ) ที่ไม่ได้ลงประกวดมาร่วมงานด้วยหรือไม่ก็ได้
    โดยหากให้มีคอสเพลย์ร่วมงาน ทางตารางงานจะติดสัญลักษณ์ Cosplay OK กำกับประกอบไว้

    ในกรณีที่มีแต่กิจกรรมประกวดคอสเพลย์ภายในงาน แต่ไม่ได้อนุญาตหรือเชิญชวนคอสเพลย์คนอื่น ๆ มาร่วมงาน ทางตารางงานจะติดสัญลักษณ์ Cosplay Contest Only ประกอบกำกับไว้



ท่านใดมีข้อสงสัย ข้อสอบถาม สามารถส่งคำถาม หรือ ข้อเสนอแนะ รวมไปถึง
กรณีที่งานของท่านไม่ได้ขึ้นตารางงาน แล้วท่านสงสัย สามารถติดต่อมาสอบถามได้ตลอดเวลา ทางเว็บยินดีที่จะร่วมพูดคุย ปรึกษาหารือเสมอครับ

ช่องทางติดต่อ

Email: propsops@propsops.com
Facebook Messenger: m.me/PropsOps
Contact Form: [คลิกที่นี่]

แบบฟอร์มส่งรายละเอียดเพื่อขึ้นตารางงานคอสเพลย์

เกณฑ์พิจารณางานขึ้นตารางงานเริ่มใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2552

■ ปูมบันทึกการเปลี่ยนแปลง

• 20 มีนาคม พ.ศ.2556 - เพิ่มเติมเกณฑ์ข้อ 6 ในเกณฑ์การพิจารณางานประเภท Cosplay OK

• 16 มีนาคม พ.ศ.2557 - เรียบเรียงและแก้ไขกฎ กติกาให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพิ่มข้อ 4 และ 5 ในเกณฑ์การพิจารณางานประเภท Cosplay Contest / เพิ่มเกณฑ์หมวดใหม่ กิจกรรมการประกวดอื่น ๆ ที่มีคอสเพลย์เป็นส่วนประกอบ

• 5 มกราคม พ.ศ.2558 - เรียบเรียงและแก้ไขกฎ กติกาให้กระชับมากขึ้น เปลี่ยนแปลงรูปแบบหน้าเกณฑ์ตารางงาน และเพิ่ม "เจตนารมณ์และจุุดมุ่งหมายของการมีเกณฑ์พิจารณางาน"

• 30 พฤษภาคม พ.ศ.2560 - เพิ่มกฎใหม่ "กฎ กติกา เกณฑ์การประกวดคอสเพลย์ต้องมีการประกาศล่วงหน้าก่อนถึงวันจัดงานไม่น้อยกว่า 7 วัน" สำหรับเกณฑ์พิจารณางานประกวดคอสเพลย์

• 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 - เพิ่มเติมอธิบายรายละเอียดเรื่องของ "น้ำหนัก" ของการระบุเชิญชวนคอสเพลย์มาร่วมงาน

• 8 เมษายน พ.ศ.2561 - เพิ่มเกณฑ์พิจารณาว่าด้วยงานประกวดคอสเพลย์รอบสุดท้าย ที่มีการเตรียมผู้ประกวดไว้อยู่แล้ว
• 14 พฤษภาคม พ.ศ.2561 - ระบุเรื่อง Social Network ส่วนตัวไม่นับเป็นทางการ / ข้อกติกาออก 7 วันก่อนวันประกวด ระบุเรื่องรับเริ่มต้นนับวันเฉพาะกติกาที่ผ่านเกณฑ์ประกาศออกมา

• 20 สิงหาคม พ.ศ.2561 - ระบุความชัดเจนของคำว่า "ต้นแบบ" มากขึ้นโดยเน้นว่าเป็น "ต้นแบบทางการ"

• 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 - เรียบเรียง/จัดระเบียบหัวข้อใหม่ให้เป็นหมวดหมู่มากขึ้น

• 3 พฤษภาคม พ.ศ.2562 - ระบุรายละเอียดเรื่องต้นแบบให้ชัดเจนในกรณีของการคอสเพลย์ดัดแปลงตามต้นแบบ เช่น แฟนอาร์ต คอสสสับเพศ หรือ คอสแนวล้อเลียน เป็นต้น

• 28 กรกฎาคม พ.ศ.2562 - เพิ่มข้อ "การพิจารณางานจะให้ความสำคัญในน้ำหนักสัดส่วนระหว่าง "เกณฑ์ต้นแบบ" และ "เกณฑ์การให้คะแนน" ควบคู่กันในส่วนของงานประกวดคอสเพลย์

• 13 สิงหาคม พ.ศ.2562 - ยกเลิกเกณฑ์ "เกณฑ์พิจารณาว่าด้วยงานประกวดคอสเพลย์รอบสุดท้าย ที่มีการเตรียมผู้ประกวดไว้อยู่แล้ว" ลง | เพิ่มเกณฑ์ "กิจกรรมประกวดคอสเพลย์ต้องอนุญาตให้ผู้สนใจหรือบุคคลทั่วไปสามารถสมัครได้" | เพิ่มเกณฑ์ "งานประกวดคอสเพลย์จะเปิดให้มีส่วนคอสเพลย์ร่วมงานส่วนอื่น ๆ หรือ Cosplay OK หรือไม่ก็ได้"

• 6 เมษายน พ.ศ.2563 - ปรับปรุงการจัดวางเกณฑ์ต่าง ๆ ใหม่ โดยพยายามจัดทำให้สะดวกและเข้าใจง่ายมากขึ้น / เพิ่มส่วน "ที่มา" และ "ข้อควรรู้"

• 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 - เพิ่มเกณฑ์พิเศษในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้กิจกรรมทางออนไลน์ที่จัดทดแทนการจัดงานตามปกติสามารถขึ้นตารางงานได้

• 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 - ขยายความในเรื่องของ "การให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์คอสเพลย์มาร่วมงาน" ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในส่วนของเกณฑ์ข้อ 2 สำหรับงาน Cosplay OK

• 29 มกราคม พ.ศ.2566 - ยกเลิก "เกณฑ์พิเศษในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยงานออนไลน์สามารถขึ้นตารางงานได้" ด้วยสถานการณ์มีความชัดเจนมากพอว่าสามารถจัดงานได้ในรูปแบบปกติแล้ว / ขยายความรูปแบบงานข้อ 2 เกณฑ์พิจารณางานโดยรวม ในส่วนของงานที่มีเนื้อหาเหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย และ งานที่มีลักษณะเป็นงานปิด