ตากล้องคอสเพลย์

ยังไม่มีการจำกัดความอย่างชัดเจนนัก แต่โดยสรุปคร่าวๆก็คือ ผู้ที่นิยมหรือชื่นชอบการถ่ายรูปคอสเพลย์ต่างๆ โดยที่รู้หรือทำความเข้าใจว่า คอสเพลย์คืออะไร หมายถึงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในงาน หรือ ไปรเวทคอส ทั้งนี้ อาจจะเป็นลักษณะของตากล้องที่นิยมความเป็นมืออาชีพโดยการเน้นถึงหลักทฤษฏี การถ่ายภาพ เน้นกล้องสำหรับมืออาชีพ จนไปถึง ผู้ที่ใช้กล้องพกพาทั่วไป ก็เป็นได้

ความเป็นมาของการถ่ายรูปคอสเพลย์

ในช่วงแรกๆของการมีคอสเพลย์ในเมืองไทยนั้น เป็นช่วงรอยต่อระหว่างยุคของ กล้องฟิลม์ และกล้องดิจิตอล ซึ่งกล้องดิจิตอลในสมัยนั้นยังมีราคาสูงและยังไม่เริ่มเป็นที่นิยมมากนัก การถ่ายรูปในช่วงแรกจึงเป็นถารถ่ายด้วยกล้องฟิลม์ แล้วเมื่อนำไปอัดรูปแล้ว จึงค่อยนำเข้าเครื่องสแกน แล้วจึงอัพโหลดขึ้นเว็บต่างๆอีกที ซึ่งในสมัยนั้นเว็บโฮสต์ที่เป็นที่นิยมฝากรูปมากที่สุดคือ Thai.net และ Geocities

การถ่ายรูป รวมไปถึงการนำขึ้นเว็บต่างๆนั้น จะมีลักษณะแตกต่างไปของแต่ละคน เช่น
1. ถ่ายทั่วไป ทั้งบรรยากาศงาน กิจกรรมในงาน คอสเพลย์เยอร์ ฯลฯ
2. ถ่ายเฉพาะคนที่รู้จักหรือในกลุ่มเท่านั้น

ซึ่งวิธีการถ่ายนั้นแล้วแต่บุคคลไม่มีข้อกำหนดบังคับตายตัวใดๆ รวมไปถึงว่าในสมัยก่อนนั้น คอสเพลย์ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก จึงมีคอสเพลย์เยอร์บางคนที่ไม่สามารถอนุญาตให้ถ่ายรูปเพื่อลงรูปในเว็บได้ เพราะโรงเรียนบางแห่งนั้นไม่อนุญาตให้มีการออกสื่อหรือกิจกรรมในลักษณะคอสเพลย์ ซึ่งหากรูปได้แพร่กระจายอาจจะเป็นปัญหาต่อไปได้

เมื่อมาถึงยุคที่กล้องดิจิตอลเป็นที่นิยม และคนทั่วๆไปก็สามารถหาซื้อได้นั้น การถ่ายรูปคอสเพลย์ก็เป็นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถถ่ายรูปได้มากขึ้น และสะดวกในการนำรูปเข้าคอมพิวเตอร์เพื่ออัพโหลดรูปขึ้นทางเว็บได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เว็บ Thai.net ที่เป็นที่นิยมนั้น ได้เกิดปัญหาทางระบบขึ้น ทำให้ข้อมูลต่างๆสูญหายไป แต่ก็มีเว็บโฮสฝากรูปโดยเฉพาะอย่าง Photobucket ได้เปิดตัวขึ้นมา ซึ่งมีขนาดพื้นที่มากกว่า Thai.net จึงทำให้รูปคอสเพลย์ได้มีมากขึ้นอย่างมากในอินเตอร์เนท

ต่อมา ในช่วงเวลาที่บุคคลทั่วๆไปสามารถเข้าถึงกล้องดิจิตอลในรูปแบบต่างๆได้ เช่น กล้องดิจิตอลคอมแพค หรือ กล้อง DSLR  ทำให้แต่ละคนสามารถที่จะถ่ายรูปคอสเพลย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ในภายหลัง การโพสรูปตามเว็บบอร์ดต่างๆเริ่มที่จะน้อยลงไป โดยเริ่มเน้นความเป็นส่วนตัวมากขึ้น นั่นคือจะเน้นโพสใน Blog ของแต่ละคนไป ซึ่ง Blog ที่นิยมกันมากที่สุดสำหรับคนคอสเพลย์ก็คือ Exteen ซึ่งหากเข้าไปดู Tag ที่เกี่ยวกับคอสเพลย์ จะเห็นถึงจำนวนการโพสต์ที่มากมาย

ต่อมาก็เริ่มมีการไปใช้เว็บ Multiply มากขึ้น ด้วยเหตุที่สามารถอัพโหลดรูปโดยไม่จำกัดทั้งปริมาณและขนาดของรูป และก็มาถึง Facebook ที่นิยมมากขึ้นเพราะสะดวกและสามารถ Tag ถึงบุคคลในรูปได้อย่างง่ายดาย

ในยุคที่กล้องมือถือมีคุณภาพดีขึ้นนั้น ก็เริ่มมีการนำมาถ่ายรูปคอสเพลย์ เช่นกัน แต่อาจจะเป็นในลักษณะเชิงถ่ายเป็นที่ระลึกกับเพื่อนหรือถ่ายรูปตนเองเป็นหลัก ด้วยคุณภาพของรูปนั้นยังเทียบไม่ได้เต็มที่เมื่อเทียบกับกล้อง DRLR หรือ Mirrorless เป็นต้น

ในปัจจุบัน การถ่ายรูปคอสเพลย์มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากการถ่ายรูปภายในงานและไพรเวทคอสเพลย์แล้ว ยังมีการถ่ายรูปในสตูดิโอด้วยการจัดแสงอย่างจริงจังอีกด้วย

มารยาทการถ่ายรูปคอสเพลย์ภายในงาน

หลักมารยาทที่มีการระบุชัดเจนทางการนั้นยังไม่มี แต่ก็พอจะรวบรวมจากธรรมเนียมปฎิบัติ คือ

▪ควรขออนุญาตคอสเพลย์เยอร์ในการถ่ายรูปก่อน อาจจะเป็นการพูด หรือ สบตาแล้วก้มหัวเล็กๆในกรณีที่คอสเพลย์เยอร์ไม่สะดวกในการตอบรับ และขอบคุณหลังถ่ายรูปเสร็จ
▪ คอสเพลย์เยอร์มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ถ่ายหรือไม่ก็ได้ ควรเคารพสิทธิของคอสเพลย์เยอร์
▪ ไม่ควรถ่ายในเชิงที่ทำให้คอสเพลย์เยอร์เสียหาย เช่น มุมวาบหวิว มุมโป๊ ถ่ายจังหวะที่คอสเพลย์ไม่พร้อม (ยกเว้นหากสนิทหรือถ่ายในเชิงเพื่อนๆกัน) ฯลฯ ซึ่งเมื่อรูปออกไปแล้ว จะทำให้คอสเพลย์เยอร์เสียหาย
▪ ในกรณีที่ถ่ายแล้วรูปออกมาดังข้อที่ 3 โดยไม่ได้ตั้งใจ ควรลบรูปนั้นทิ้ง หรือ ไม่ควรเผยแพร่
▪ ในกรณีที่กำลังถ่ายรูปนั้นมีคนจำนวนมากกำลังถ่าย (รุมถ่าย) โปรดระมัดระวังการกระทบกระทั่ง หรือ บังหน้ากล้องผู้อื่น
▪ ในกรณีที่กำลังถ่ายรูปนั้นมีคนจำนวนมากกำลังถ่าย (รุมถ่าย) เมื่อถ่ายเสร็จตามที่ท่านต้องการแล้ว ควรออกจากจุดนั้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นถ่ายต่อได้ หรือ หากไม่สามารถออกไปได้ ขอให้อยู่นิ่ง รอจังหวะก่อน
▪ ในกรณีที่กำลังถ่ายรูปนั้นมีคนจำนวนมากกำลังถ่าย (รุมถ่าย) ระวังเรื่องการถ่ายประชิดคอสเพลย์ (หรือ ถ่ายระยะประชิดโดยไม่ใช้ซูม) ซึ่งอาจจะเป็นการบังผู้อื่น
▪ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมารยาท ข้อความระวังอย่างคร่าวๆ โดยหลักแล้วคือการคำนึงเห็นอกเห็นใจกันระหว่างตากล้องนั่นเอง