งานคอสเพลย์

งานที่มีกิจกรรมหรือมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคอสเพลย์ โดยเปิดโอกาสให้คอสเพลย์มาร่วมงานได้ โดยอาจจะเป็นงานเฉพาะของคอสเพลย์ล้วน หรือ งานที่เน้นเนื้อหาหลักอื่น ๆ โดยเปิดโอกาสให้คอสเพลย์มาร่วมงานก็ได้ ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ภายในงาน หรือ เป็นงานที่เชิญชวนให้คอสเพลย์มาเดินเล่นภายในงานได้ (Cosplay OK)

 

การแบ่งรูปแบบของงาน

◼️ แบ่งรูปแบบของงานโดยการเน้นกิจกรรมสำหรับคอสเพลย์

งานคอสเพลย์โอเค (Cosplay OK):
งานที่เชิญชวนให้คอสเพลย์มาเดินเล่นร่วมงานได้โดยอาจจะมีกิจกรรมสำหรับคอสเพลย์หรือไม่ได้มีเป็นพิเศษเท่าไหร่ ส่วนมากแล้วมักจะเป็นงานประเภท งานการ์ตูน งานออกบูธโดจินชิ เป็นหลัก ทั้งนี้ด้วยเนื้อหาของงานซึ่งเน้นการ์ตูน กับ คอสเพลย์การ์ตูนต่าง ๆ นั้น มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน จึงเป็นที่นิยมที่จะเปิดให้เป็น Cosplay OK มาร่วมงาน เป็นสีสันของงาน

งานประกวดคอสเพลย์:
งานที่มีกิจกรรมการประกวดคอสเพลย์ภายในงาน โดยมากมักจะเป็นงานใหญ่ ๆ หรืองานที่มีทุนจัดงานในระดับหนึ่ง เนื่องจากต้องมีงบประมาณในการจัดการ รวมไปถึงของรางวัลต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่างานเล็ก ๆ จะไม่สามารถจัดประกวดคอสเพลย์ได้แต่อย่างไร

◼️ แบ่งรูปแบบของงานโดยลักษณะของผู้จัด

งานจัดโดยกลุ่มคนในสังคม:
เช่น งานการ์ตูนโดยคนการ์ตูน, งาน J-Rock โดยคน J-Rock เป็นต้น งานในลักษณะนี้เป็นลักษณะของการรวมกลุ่มกันจัดงานของคนในสังคมจัดกันเอง โดยมากมักเป็นงาน Only Event เฉพาะเรื่องต่าง ๆ งานในลักษณะนี้จุดเด่นคือ รูปแบบงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ หรือ อะไรต่าง ๆ ที่ตรงจุดกับความชอบของคนร่วมงาน เพราะเป็นคนกันเองจัดกัน แต่โดยมากมักไม่ใช่งานที่ใหญ่มากนัก เพราะงบทุนในการจัดงานไม่ค่อยสูง บางครั้งอาจะเป็นเพียงการร่วมกันออกเงินในบรรดาผู้จัดงาน

งานโดยองค์กรต่าง ๆ เช่น บริษัท ห้างร้าน หรือ องค์กรรัฐ:
เช่น งานการ์ตูนของเครือสำนักพิมพ์ต่าง ๆ หรือ งานประกวดคอสเพลย์ภาพยนตร์จากผู้นำเข้าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เป็นต้น งานในลักษณะนี้ มักเป็นงานที่ปานกลางไปถึงใหญ่ เพราะมีงบประมาณในการจัดงาน ทั้งนี้ มักจะมีกิจกรรมประกวดคอสเพลย์ด้วยในหลาย ๆ งาน โดยงานในลักษณะนี้ จะมีจุดเด่นคือ มีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีอะไรต่าง ๆ ประกอบกันอยู่ในงานจำนวนมาก แต่ข้อด้อยคือ อาจจะมีบางจุดในรายละเอียดที่อาจจะไม่ถูกต้องตามคำนิยามของคำว่าคอสเพลย์ได้ หรือ มักจะมีกิจกรรมในเชิงธุรกิจแฝงอยู่ได้ในบางงาน

◼️ แบ่งรูปแบบตามประเภทของเนื้อหางาน

งานโดจินชิ:
โดจินชิ คือ การ์ตูนทำมือที่เขียนโดยอ้างอิงจากต้นฉบับที่มีอยู่แล้วเดิม งานการ์ตูนโดจินชิ คือ งานที่มีการเปิดออกบูธต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่ม และมีการวางขายโดจินชิในแต่ละบูธ
งานประเภทนี้ ถือเป็นงานสายตรงของคอสเพลย์การ์ตูน

งานการ์ตูน อนิเมะ:
งานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การ์ตูน อนิเมะต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแสดง การร้องเพลงอนิเมะ การออกบูธสินค้าการ์ตูนต่าง ๆ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงโดจินชิได้อีกด้วย ทั้งยังรวมไปถึงงานการ์ตูนที่จัดโดยสำนักพิพม์ต่าง ๆ
งานประเภทนี้ เป็นสายตรงของคอสเพลย์การ์ตูน เช่นกัน

งาน J-Rock:
งานที่เน้นไปที่ศิลปินวงร๊อคของญี่ปุ่น ที่เป็นแนวไปทาง Visual นั่นเอง โดยมากงานมักจะมีการแสดง Cover Live จากวงต่าง ๆ มาเล่นเพลงจากวงต่าง ๆ ที่เป็นที่ชื่นชอบ ทั้งนี้งาน J-Rock แต่เดิมเน้นการจัดในผับ
งานประเภทนี้ เป็นสายตรงของคอสเพลย์ J-Rock

งานเกม:
งานที่เน้นไปที่เกมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเกมคอนโซล หรือ งานเกมออนไลน์ โดยมักจะเป็นงานที่แสดงถึงเกมใหม่ ๆ เทคโนโลยีเกมต่าง ๆ ภายในงาน งานประเภทนี้ เป็นสายตรงของคอสเพลย์เกม

งาน Only Event:
งานที่จำกัดเนื้อหาเฉพาะเรื่องภายในงาน ส่วนมากแล้ว มักใช้กับงานโดจินชิที่จำกัดเน้นไปเพียงการ์ตูนเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น เช่น งาน Only Event Saint Seiya ที่จะมีแต่เรื่อง Saint Seiya เท่านั้นภายในงาน และการคอสเพลย์ในงานก็จะที่คอสเพลย์จาก Saint Seiya เท่านั้น
งานประเภทนี้ มักเป็นงานที่เกี่ยวกับคอสเพลย์การ์ตูน

งาน J-Style:
งานที่ใช้เนื้อหาว่าเป็นงานสไตล์ญี่ปุ่น ทั้งนี้ คำว่าสไตล์ญี่ปุ่นค่อนข้างกินความหมายค่อนข้างกว้างมาก มักใช้กับงานที่รวมหลาย ๆ อย่างที่เป็นของญี่ปุ่นมารวมกัน เช่น ศิลปะ วัฒนธรรม การแสดงที่เป็นของประเทศญี่ปุ่น
งานประเภทนี้ ครอบคลุมทั้งคอสเพลย์การ์ตูน เกม J-Rock หรืออะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นทั้งหมด

ทั้งนี้ การแบ่งประเภทของงานนั้น ในความเป็นจริงในแต่ละงานอาจจะมีรูปแบบงานที่ผสมผสานในหลายรูปแบบก็เป็นได้ อีกทั้งปัจจุบันแต่ละงานก็มีการพัฒนางานของตนเองไม่ให้ซ้ำแบบใคร ทำให้หลายงานที่มีการพัฒนาขึ้นมา จะผสมผสานหรือยากที่จะระบุเจาะจงว่าเป็นงานประเภทใด

 

งานที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์ แต่ไม่ควรนับเป็นงานคอสเพลย์

เป็นงานที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ มีการระบุถึงคอสเพลย์ฺ แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้วไม่ใช่งานคอสเพลย์

งานที่มีการว่าจ้างคอสเพลย์ไปในงานเพื่อจุดประสงค์ของการเป็นพรีเซนเตอร์:
โดยมาก มักเป็นงานเปิดตัวสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยทางผู้จัดงานมีการว่าจ้างคอสเพลย์เยอร์เฉพาะกลุ่มหรือบุุคคลไปทำงานเป็นพรีเซนเตอร์ในงาน โดยไม่เปิดโอกาสให้คอสเพลย์อื่น ๆ มาร่วมงาน

เหตุที่ไม่ควรเรียกว่าเป็นงานคอสเพลย์ เพราะ ไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้คอสเพลย์เยอร์คนอื่น ๆ มาร่วมงาน รวมไปถึง การว่าจ้างนั้นเป็นในลักษณะของการว่าจ้าง คน ๆ หนึ่งเพื่อไปใส่ชุดคอสเพลย์ทำงาน โดยเป็นการทำงานในลักษณะของพรีเซนเตอร์อย่างใดอย่างหนึ่ง

งานที่ใช้คำว่าคอสเพลย์ภายในงานโดยไม่ตรงกับนิยามของคอสเพลย์:
เช่น การประกวดแฟชั่นคอสเพลย์ ซึ่งเนื้อหางานไม่ได้ระบุถึงความเหมือน เป็นต้น ลักษณะนี้อาจจะมองว่าเป็นความไม่รู้อย่างชัดเจนว่าคอสเพลย์คืออะไรของผู้จัดงานก็เป็นได้ หรือ อาจจะเป็นงานที่เพียงนำคำว่าคอสเพลย์ไปใช้เท่านั้น

ปัญหาต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นภายในงานต่าง ๆ

ปัญหาเรื่องการวางข้าวของสัมภาระของคอสเพลย์เยอร์ภายในงาน
การคอสเพลย์นั้นย่อมมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และไม่สะดวกในการนำติดตัวไปด้วยเสมอเวลาคอสเพลย์ จึงทำให้เกิดปัญหาการวางของภายในงานต่าง ๆ โดยหลายงานมักไม่ได้มีพื้นที่สำหรับวางของอย่างเป็นทางการนัก ทำให้เกิดการวางของที่กระจัดกระจาย อันอาจส่งผลให้เกิดปัญหาของการขโมยทรัพย์สินได้โดยง่าย

ปัญหาขยะ
หลาย ๆ งานนั้น ทั้งคอสเพลย์เยอร์เอง และผู้ร่วมงานอื่น ๆ เอง มักจะมีการวางสิ่งของ ทิ้งสิ่งของภายในงาน จนทำให้เกิดขยะค่อนข้างมากภายในงาน โดยมักจะเห็นได้ชัดเมื่อจบงานแล้ว โดยมากมักเป็นเศษอุปกรณ์จากการคอสต่าง ๆ เศษกระดาษ โปสเตอร์ ใบปลิวต่าง ๆ เป็นต้น

ปัญหาสถานที่แต่งตัว
เนื่องจากการแต่งคอสเพลย์นั้น จำเป็นต้องมีสถานที่ที่สามารถไปเปลี่ยนชุดได้ เพราะการคอสเพลย์สำหรับหลายคนไม่สะดวกแต่งมาจากบ้านโดยตรง โดยปกติมักเป็นห้องน้ำของสถานที่นั้น ๆ เป็นหลัก ปัญหาที่เกิดขึ้นมักมาจำนวนห้องน้ำที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนคน รวมไปถึง บางสถานที่ไม่อนุญาตให้ใช้ห้องน้ำในการแต่งตัว
ปัญหานี้ บางครั้งยังหมายถึง การที่คนคอสเพลย์เข้าไปแต่งตัวในห้องน้ำจำนวนมาก จนไปรบกวนการใช้ห้องน้ำของบุคคลอื่น ๆ ทั่วไป

ปัญหาการใช้พื้นที่นอกเขตของการจัดงาน
เช่น สถานที่ของผู้จัดงานนั้น ในหลาย ๆ ครั้งมักจะเป็นเพียงพื้นที่ส่วนเดียว หรือ ห้องเดียวของสถานที่นั้น ๆ แต่บางครั้งพื้นที่ที่เช่านั้นไม่เพียงพอทั้งในด้านของ ขนาดห้องต่อจำนวนคนมางาน หรือ เรื่องของแสงที่ไม่เหมาะกับการถ่ายรูป ทำให้คนร่วมงาน รวมไปถึงคอสเพลย์ ออกกระจายนอกเขตของการจัดงาน

ทั้งนี้ หากมองในแง่ดี ก็เหมือนเป็นการลดความแออัดภายในงานลง แต่ปัญหามักจะเกิดมาจาก การออกไปนอกเขตมากเกินไป หรือ เข้าไปในเขตหวงห้ามต่าง ๆ ซึ่งปัญหานี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขออนุญาตใช้สถานที่ในอนาคตต่อๆไปได้