การประกวดคอสเพลย์ เป็นกิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่งที่งานต่างๆนิยมจัดขึ้นในงานคอสเพลย์ ด้วยเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คอสเพลย์เยอร์ได้ขึ้นมาแสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ โดยมีรางวัลมอบให้แก่ผู้ที่ชนะการประกวดนั่นเอง

รูปแบบการแบ่งประเภทการประกวดคอสเพลย์

คอสเพลย์นั้นมีรูปแบบที่หลายหลาย ทั้งประเภทของคอสเพลย์ ทั้งวิธีการแสดงออกของคอสเพลย์เยอร์ รวมไปถึงจำนวนคนคอสเพลย์ในแต่ละเรื่องจึงมีการแบ่งประเภทการประกวด โดยคร่าว ๆ ที่มักแบ่งหมวดคือ

◼️ แบ่งตามประเภทของคอสเพลย์
มีการแบ่งประเภทเช่น หมวดของคอสเพลย์การ์ตูนและเกม กับ คอสเพลย์ J-Rock การแบ่งประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อสามารถตัดสินตามเอกลักษณ์ของชุดในแต่ละประเภทได้โดยตรง เพราะทั้งคอสเพลย์การ์ตูน เกม J-Rock นั้น ต่างก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน มีจุดเด่นคนละแบบ

◼️ แบ่งตามจำนวนคนในทีม
เช่น แบ่งเป็น การประกวดคอสเพลย์เดี่ยว (ในที่นี้บางงานจะหมายถึง 1-3 คน) กับ การประกวดคอสเพลย์กลุ่ม ( จำนวนคนมากกว่า 1 คน หรือ 3 คนในบางงาน) จุดประสงค์ของการแบ่งการประกวดแบบนี้ คือ ทำให้คอสเพลย์ที่มาเดี่ยวนั้น ไม่เสียเปรียบแต่ต้น ลดความได้เปรียบเสียเปรียบในแง่จำนวนคน เพราะในการคอสเพลย์แบบกลุ่มนั้น ย่อมดูอลังการ ดูสวยงาม และสามารถแสดงออกลูกเล่นต่าง ๆ ได้ มากกว่าการคอสเพลย์เดี่ยว

 

รูปแบบการแสดงในการประกวดคอสเพลย์

การประกวดคอสเพลย์นั้น แต่ในละเวทีย่อมมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับทางผู้จัดว่าต้องการเน้นการแสดงอะไรในการประกวดนั้น ๆ ซึ่งรูปแบบการแสดงนั้น โดยหลักทั่วไปที่นิยม คือ

◼️ เน้นการขึ้นมาโพสท่า
เป็นการขึ้นมาเพียงโพสท่าของตัวละครนั้น ๆ โดยใช้เวลาไม่นานราว 1-3 นาที ในการโพสท่าแบบนี้มักนิยมใช้ในการประกวดที่มีเวลาจำกัด หรือ มีจำนวนคนประกวดจำนวนมาก

◼️ เน้นการแสดงแบบเปิดอิสระ
เป็นการให้เวลาราว 3-5 นาทีหรือมากกว่านั้น แล้วแต่คอสเพลย์เยอร์ว่าต้องการจะแสดงอะไร บางคนอาจจะโพสอย่างเดียวเป็นพอ บางคนอาจจะมีการแสดงละคร เรื่องราวที่ตนเองคอส หรือ บางคนเลือกที่จะเต้นหรือร้องเพลงก็มี

◼️ เน้นการแสดงเต็มรูปแบบ
คือ การเน้นการแสดงที่เป็นเรื่องราวจริงจัง อาจจะถึงขั้นต้องมีฉาก หรือ เสียงเพลงประกอบในการแสดงนั้น ๆ ด้วย รูปแบบนี้งานที่เด่นที่สุดคือ การประกวดรอบคัดเลือก World Cosplay Summit ในแต่ละปี

ขั้นตอนในการประกวดคอสเพลย์

ในแต่ละงานนั้น ล้วนมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน บ้างก็มีหลายขั้นตอนกว่าจะได้ขึ้นเวที บางก็เป็นเพียงเปิดรับสมัครหน้างาน ในบทความนี้จึงรวบรวมแต่ละขั้นตอนที่มีในการประกวดคอสเพลย์ โดยแต่ละงานนั้นไม่จำเป็นต้องมีครบในทุกขั้นตอนก็เป็นได้ และอาจจะมีขั้นตอนที่มากกว่านี้ก็เป็นได้เช่นกัน

◼️ การสมัคร
ในหลาย ๆ งาน มักจะมีการเปิดรับสมัครล่วงหน้าก่อนวันงาน โดยมีระยะเวลาราว 1-2 เดือนก่อนหน้าที่จะถึงการประกวดคอสเพลย์ภายในงาน การสมัครนั้นอาจจะใช้วิธีเช่น กรอกข้อมูลผ่านแบบฟอร์มในเว็บ, ส่งทาง Email, ปรินท์ใบสมัครส่งทางไปรษณีย์ ฯลฯ แล้วแต่ว่าแต่ละงานจะเปิดช่องในการรับสมัครอย่างไร บางงานอาจจะมีการระบุช่วงอายุว่าอนุญาตให้อายุเท่าไรสมัครได้ ในบางงานจะมีการขอเพิ่มเติมนอกจากชื่อจริง นามสกุล เช่น รูปของคอสเพลย์เยอร์ที่เคยคอส รูปต้นแบบของตัวที่จะคอส เป็นต้น

การรับสมัครล่วงหน้านั้น มีจุดประสงค์เพื่อสามารถระบุจำนวนคนที่จะประกวดได้ล่วงหน้า ทำให้สามารถเตรียมเวลา เตรียมอะไรต่าง ๆ ในเวทีได้โดยง่าย แต่อาจจะมีจุดด้อยคือ บางครั้งคอสเพลย์เยอร์ที่ส่งใบสมัครล่วงหน้ามา ก็ทำชุดไม่เสร็จเมื่อถึงงานจริงก็มี

ด้วยเหตุนี้ การสมัครจึงมีการเปิดรับสมัครหน้างานด้วยในบางงาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดมาจากจำนวนคนประกวดมีน้อยกว่าที่คาดไว้ จึงเปิดโอกาสคอสเพลย์เยอร์ที่มาเดินเล่นในงาน สามารถขึ้นเวทีการประกวดภายในงานได้อีกด้วย

◼️ การคัดเลือกแบบออดิชั่น (Audition)
มักใช้กับงานประกวดใหญ่ ๆ ที่มีผู้สนใจประกวดจำนวนมาก จนต้องมีการจัดรอบคัดเลือกเพื่อไปประกวดในวันงานจริงอีกที ซึ่งในการออดิชั่นนั้น แต่ละงานก็มีรูปแบบแตกต่างกันไป บ้างก็เป็นการเน้นแสดงโชว์ที่จะขึ้นไปงานจริง บ้างก็เป็นเชิงสัมภาษณ์ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับคอสเพลย์

◼️ การประกวดรอบที่ 1
มักใช้กับงานประกวดที่มีเวลามากและต้องการเน้นกิจกรรมนี้ นั่นคือ จะมีการประกวดคอสเพลย์แบ่งเป็นรอบแรกก่อน แล้วจึงมีการประกาศผู้เข้ารอบในการประกวดรอบสุดท้ายต่อไป ในการประกวดรอบแรกนี้ มักจะไม่เน้นทุ่มลงไปทันที เพราะงานจะพยายามเน้นไปที่การประกวดรอบสุดท้ายมากกว่า เช่น ในรอบแรกอาจจะเป็นเพียงโพสท่า และในรอบสุดท้ายเปิดให้มีการแสดงก็เป็นได้รูปแบบนี้นิยมใช้ในอดีต แต่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุว่าทำให้งานต้องใช้เวลายืดเยื้อมาก บางงานมีการแบ่งเป็น 2 วันก็มี ทำให้การประกวดในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ในรูปแบบนี้ โดยนิยมใช้วิธีประกวดรอบเดียวและตัดสินผลทีเดียวเลย

◼️ การประกวดรอบสุดท้าย
ในขั้นตอนนี้ อาจจะหมายถึงการประกวดรอบเดียวเลยก็ได้ หากไม่มีการแบ่งรอบ ซึ่งการประกวดนั้นก็จะทำการประกวดตามขั้นตอนที่เป็นไป ซึ่งจะเป็นการแสดงต่อหน้าผู้ชมและกรรมการคอสเพลย์ เพื่อตัดสินผลคะแนนหาผู้ชนะต่อไป

 

เกณฑ์การให้คะแนนการประกวดคอสเพลย์แบบกรรมการคอสเพลย์

แต่ละเวทีย่อมแตกต่างกันไปว่าจะมีหัวข้อใดบ้าง ทั้งยังหมายถึงการเน้นน้ำหนักของคะแนนของแต่ละประเภทว่างานนั้นเน้นอะไรเป็นสำคัญ หัวข้อที่นิยมใช้ในการเป็นเกณฑ์ คือ

◼️ ความเหมือน
เป็นเกณฑ์ที่ขาดไม่ได้ในการประกวดคอสเพลย์ เพราะความเหมือนนั้นเป็นจุดเด่น และ เอกลักษณ์ของการเป็นคอสเพลย์ตามความหมาย ความเหมือนนั้นจะตัดสินโดยดูจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ชุด เสื้อผ้าอุปกรณ์เสริม รวมไปถึงท่าทางการแสดงออก การสวมบทบาท ว่าเหมือนต้นแบบมากน้อยเพียงใดในข้อนี้นั้น กรรมการคอสเพลย์บางครั้งจะมีปัญหา เพราะว่าเรื่องราวในการประกวดนั้นมีจำนวนมาก ยากที่กรรมการจะรู้จักทุก ๆ เรื่อง ดังนั้น การสมัครโดยส่งรูปต้นแบบมาล่วงหน้า หรือ การแจ้งล่วงหน้าในการสมัครว่าจะคอสตัวใดนั้น จะช่วยให้งานหรือกรรมการสามารถเตรียมข้อมูลล่วงหน้าได้
ในหัวข้อนี้ อาจจะมีปัญหาในการตัดสินได้กับ คอสเพลย์ออริจินอล ที่บางครั้งไม่มีต้นแบบที่สามารถเทียบได้

◼️ ความสวยงาม
เป็นเกณฑ์ตัดสินโดยดูว่าชุด อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ นั้นมีความสวยงามอย่างใดบ้าง จริงอยู่ที่ความสวยงามนั้นบางครั้งก็โดนต้นแบบบีบไว้เป็นข้อจำกัด (เช่น ตัวละครชุดเรียบง่าย ย่อมไม่สวยเท่ากับตัวละครที่มีชุดหรูหรา) แต่ก็สามารถมองได้แน่ว่า เช่น การใช้ผ้าเหมาะกับตัวละครนั้น ๆ ไหม เลือกสีผ้าได้สวยมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการแต่งหน้า ทำผม อุปกรณ์เสริม ความปราณีตและคุณภาพของชิ้นงาน

◼️ การแสดง
อาจจะตัดสินว่าโพสท่าได้เหมือนต้นแบบแค่ไหน หรือ แสดงได้ดีแค่ไหน ในบางงานอาจจะเน้นน้ำหนักมาที่หัวข้อนี้สูงหากเป็นการประกวดที่มีการแสดงในรูปแบบที่จริงจัง

◼️ ตรงธีมของงาน
เป็นเกณฑ์เสริมขึ้นมาขึ้นอยู่กับงานนั้น ๆ เช่น งานที่มีธีมของเทศกาลต่าง ๆ หรือ อาจจะเป็นหัวข้อ เช่น คอสเพลย์เทศกาลปีใหม่ คะแนนก็อาจจะตัดสินโดยดูว่าคอสเพลย์เยอร์สามารถแสดงออกว่าการคอสนั้นเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

◼️ ความคิดสร้างสรรค์:
เป็นเกณฑ์เสริมที่ใช้ในการดูส่วนของการใช้ไอเดียประยุกต์ในส่วนของชุดหรือการแสดง

สำหรับน้ำหนัก สัดส่วนของคะแนนนั้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละงาน ซึ่งก็ส่งผลต่อผลการตัดสินได้อยู่เหมือนกัน เช่น หากเราคอสเพลย์ขึ้นประกวดโดยเน้นการแสดง โอกาสที่จะชนะในงานที่เน้นการแสดงเป็นหลัก ย่อมสูงกว่า งานที่เน้นเรื่องของชุด เสื้อผ้า แต่งกายนั่นเอง

เกณฑ์มาตรฐานมักนิยมใช้เป็นหลักคือ
ความเหมือน | ความสวยงาม |  การแสดง 

เกณฑ์การให้คะแนนแบบการลงเสียง หรือ โหวต

การโหวตนั้น เป็นอีกวิธีในการตัดสินผลการแข่งขัน โดยอาจจะใช้วิธีคือการแจกใบลงคะแนนให้กับผู้ร่วมงานนั่นเอง ซึ่งในรูปแบบนี้มักนิยมใช้ในการตัดสินหา ผู้ชนะถูกใจมวลชน หรือ Popular Vote ในบางเวที เพราะการโหวตนั้นเป็นเรื่องของความนิยมมากกว่าเรื่องของการตัดสินด้วยคุณภาพของงาน อีกทั้งหากจัดการระบบได้ไม่ดีนั้นอาจจะมีการปั่นคะแนนโหวตขึ้นมาได้

 

การแบ่งประเภทการรับรางวัลของการประกวดคอสเพลย์

โดยปกติแล้วรูปแบบจะมีใหญ่ ๆ คือ

◼️ แบ่งเป็นอันดับผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศ
เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด คือการให้รางวัลแก่ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ไล่ลงมาตามลำดับ โดยที่นิยมคือไล่อันดับไปถึงรางวัลที่ 3 ซึ่งรูปแบบนี้อาจจะลงไล่ไปถึงระดับรางวัลชมเชยได้

◼️ แบ่งเป็นผู้ชนะแต่ละประเภท
เช่น ผู้ชนะในแต่ละหมวดการคอสเพลย์ (ตัวละครชาย / ตัวละครหญิง / ตัวละครมอนสเตอร์), ผู้ชนะเลิศประเภทการแสดงดีเด่น, ผู้ชนะเลิศชุดสวย, รูปแบบนี้จุดประสงค์เพื่อให้มีการกระจายรางวัลตามความเด่นของแต่ละประเภทและแต่ละคนไป เพื่อไม่ให้สร้างความรู้สึกแพ้ชนะของลำดับของรางวัลมากจนเกินไป

 

รางวัลของการประกวดคอสเพลย์

◼️ เงินรางวัล
หรืออาจเรียกเป็นทุนการศึกษาก็ได้ โดยมาตรฐานเฉลี่ยแล้ว รางวัลจะอยู่ในระดับ 10,000 บาทสำหรับผู้ที่ชนะเลิศ (สูงสุดที่เป็นสถิติตอนนี้คือ เงินรางวัลชนะเลิศ 100,000 บาท งาน Oishi Cosplay 4 World Cosplay Summit)

◼️ ของรางวัล
จะเน้นไปที่สิ่งของที่มีมูลค่าทางจิตใจ เช่น ถ้วยรางวัล ใบประกาศเกียรติคุณ ฟิกเกอร์ ของสะสมต่าง ๆ รวมไปถึงของหายากต่าง ๆ

ทั้งนี้ ท้ายสุดแล้วรางวัลเป็นเรื่องของความสามารถของผู้จัดว่าจะให้สิ่งใดนั่นเอง สำหรับบางงานอย่าง World Cosplay Summit รอบคัดเลือกนั้น รางวัลในท้ายสุดก็คือ การไปประเทศญี่ปุ่นในฐานะตัวแทนคอสเพลย์ไทย เป็นต้น

 

รูปแบบอื่น ๆ ของการประกวดที่ก้ำกึ่งที่จะเรียกว่าเป็นการประกวดคอสเพลย์

ด้วยแต่ละงานก็พยายามพัฒนาการประกวดให้แตกต่าง พัฒนา หรือมีเอกลักษณ์ของตนเอง การประกวดคอสเพลย์จึงเริ่มมีรูปแบบใหม่ ๆ เกิดมามากขึ้น และมีวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกว่าความเข้าใจเดิม ๆ ของการประกวดคอสเพลย์ เช่น

การประกวดถ่ายภาพคอสเพลย์เยอร์
ที่จะเปิดโอกาสให้คอสเพลย์เยอร์ ไปถ่ายรูปในฉากที่เตรียมไว้ให้โดยตากล้องของงาน แล้วจึงมีการนำรูปที่ถ่ายมาตัดสินผลอีกที ซึ่งมีความก้ำกึ่งระหว่างการตัดสินจากตัวคอสเพลย์เยอร์โดยตรง หรือ รูปถ่ายคอสเพลย์เยอร์

การประกวดภาพถ่ายคอสเพลย์
เป็นการเปิดโอกาสให้คอสเพลย์เยอร์ส่งรูปของตนเองลงประกวด หรือ อาจจะหมายถึงตากล้องคอสเพลย์ส่งรูปคอสเพลย์เยอร์ที่จนถ่ายส่งประกวดก็เป็นได้

การประกวดเต้นคอสเพลย์
ที่เป็นการประกวดโดยให้คอสเพลย์แสดงเต้นนั่นเอง โดยรูปแบบนี้ก้ำกึ่งระหว่างการเน้นไปที่ความเหมือน หรือ การแสดงความสามารถทางการเต้น เป็นหลัก

โดยการประกวดนั้นอาจจะใช้วิธีกรรมการตัดสิน หรือ โหวตนั้นขึ้นอยู่กับทางผู้จัดอีกที (การโหวตนั้น อาจจะมีการโหวตผ่านทางเวปไซท์ได้ด้วย)

(ตัวอย่างหน้าคะแนนโหวตผ่านทางเวปไซท์)

ดูเพิ่มเติม

• Cosplus Props&Ops Magazine: Welcome to Cosplay Contest