คอสเพลย์ (Cosplay หรือ Cos’Play)

เป็นการผสมคำภาษาอังกฤษระหว่างคำว่า Costume ซึ่งแปลว่า “เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย” และ Play ที่แปลว่า “การเล่น”
Costume + Play จึงแปลตรง ๆ ว่า การเล่นเสื้อผ้า แต่นิยามที่ให้คำจำกัดความและได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ “การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร”


โดยเป็นการเลียนแบบตัวละครจาก การ์ตูน อนิเมชั่น เกม วงดนตรี นวนิยาย Visual Kei วงศิลปิน ภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นกิจกรรมการแสดงออกถึงความรัก ความชอบ ในตัวละครที่ได้เลียนแบบนั้น ๆ ทั้งนี้นอกจากเลียนแบบชุดแต่งกายแล้ว ยังอาจจะรวมไปถึงเลียนแบบกิริยา ท่าทาง บุคลิกและสวมบทบาทของตัวละครต้นแบบอีกด้วย โดยผู้ที่คอสเพลย์นั้นมักเรียกว่า เลเยอร์ หรือย่อมาจาก Cosplayer นั่นเอง

 

ยังมีอีกหนึ่งนิยามคือ Cosplay มาจาก Costume+Roleplay ซึ่งคำว่า Roleplay นี้แปลว่า สวมบทบาท ซึ่งมีความหมายที่กระชับขึ้น คือ “การแต่งกายสวมบทบาท” แต่ทั้งนี้ Cosplay = Costume + Play ยังถือว่าเป็นนิยามที่ได้รับการยอมรับในทางสากลมากกว่าอยู่ดี

 

สำหรับการมีการใช้คำว่า Cosplay อย่างชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ Nobuyuki Takahashi ซึ่งมาจากสตูดิโอ Studio Hard ของญี่ปุ่น บัญญัติศัพท์คำว่า “Cosplay” ขึ้นมาเพื่อเป็นการย่อคำจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Costume Play เมื่อตอนที่แสดงงานเมื่อ ค.ศ. 1983 (พ.ศ.2526) ณ งาน Los Angeles Science Fiction (Worldcon) ซึ่งได้บอกว่าเป็นชุดที่มีในหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น

 

ในพจนานุกรมของ Oxford ได้ระบุว่า Cosplay หมายถึง
“The practice of dressing up as a character from a film, book, or video game, especially one from the Japanese genres of manga or anime.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า
“รูปแบบการแต่งกายเป็นเหมือนกับตัวละครจากภาพยนตร์ หนังสือ หรือ วิดีโอเกม โดยเฉพาะที่มาจากหนังสือการ์ตูนหรืออนิเมประเทศญี่ปุ่น”

 

แม้ว่าคอสเพลย์จะเกี่ยวโยงกับความเป็นญี่ปุ่นค่อนข้างมาก แต่คอสเพลย์ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่เรื่องของญี่ปุ่นแต่อย่างใด  การคอสเพลย์ไม่ได้จำกัดเรื่องของเชื้อชาติต้นแบบใด ๆ การแต่งกายเลียนแบบ Superhero หรือตัวละครจากฝั่งตะวันตก เช่น Superman, Batman, Spiderman หรือการแต่งกายเลียนแบบศิลปิน เช่น Elvis ก็จัดได้ว่าเป็นการคอสเพลย์ในรูปแบบหนึ่ง เช่นกัน

 

สำหรับในไทยนั้น มีคอสเพลย์ที่หลากหลายประเภทมาก ที่เป็นที่นิยม อาทิ

• คอสเพลย์การ์ตูน
• คอสเพลย์เกม
• คอสเพลย์ J-Rock
• คอสเพลย์ตามศิลปิน
• คอสเพลย์ตามตัวละครซุปเปอร์ฮี่โร่
• คอสเพลย์ตามนิยาย
• คอสเพลย์ตามภาพยนตร์หรือละคร

แม้จะมีการแบ่งประเภทของคอสเพลย์ แต่ก็เป็นเพียงการแบ่งเพื่อสะดวกในการเรียกหมวดหมู่หรือสะดวกในการแบ่งประเภทประกวดคอสเพลย์เท่านั้น โดยแต่ละประเภทนั้นก็จะมีจุดเชื่อมโยงที่สามารถรวมเข้าด้วยกันได้ เช่น Harry Potter ที่แต่ต้นเป็นนวนิยาย ต่อมาก็ได้สร้างเป็นภาพยนตร์และเกม การคอสเพลย์ Harry Potter จึงเป็นการคอสเพลย์ทั้งนิยาย ภาพยนตร์และเกมไปในตัวเลย เป็นต้น

 

โดยทั้งนี้การแต่งกายเลียนแบบนั้น อาจจะมีทั้งแต่งกายให้เหมือนทั้งหมด หรือ ดัดแปลงเล็กน้อย เน้นประยุกต์สร้างสรรค์ แต่ยังคงเอกลักษณ์ของตัวที่เลียนแบบนั่น ๆ

องค์ประกอบที่ระบุถึงความเป็นคอสเพลย์

คอสเพลย์นั้น มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม และ นามธรรม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีครบก็ได้ เพียงแต่ว่า หากขาดบางอย่างมากไป การคอสเพลย์ตามนิยามแต่ต้นนั้นก็อาจมีไม่ครบสมบูรณ์ไป

• ชุดคอสเพลย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ
เป็นองค์กระกอบรูปธรรม นั่นคือ เครื่องแต่งกายที่แสดงให้เห็นถึงการแต่งกายเลียนแบบ คำว่าชุดคอสเพลย์นั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชุดที่แปลกตา อลังการ แต่หมายถึงชุดที่เหมือนกับต้นแบบ เพราะต้นแบบนั้นไม่จำเป็นต้องชุดที่อลังการเสมอไป และยังรวมไปถึงส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ วิก    อุปกรณ์เสริมคอสเพลย์

• ความรักและความชอบ
เป็นองค์ประกอบนามธรรม เพราะคอสเพลย์แต่ต้นคือ การแสดงออกถึงความรักความชอบต่อตัวละครนั้น ๆ จึงได้แต่งกายเลียนแบบ กล่าวคือ หากมีคนที่ไม่ได้ชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้ชุดคอสเพลย์มาใส่ เมื่อพบก็จะเห็นได้ว่าเป็นคอสเพลย์ แต่ก็จะไม่สามารถสวมบทบาท แสดงออกสื่อถึงถึงตัวละครนั้น ๆ ได้ เช่น การ โพสท่า การแสดงกิริยาของตัวละครนั้น ๆ

• ความเหมือน การเลียนแบบและสวมบทบาท
เป็นนิยามที่เป็นเอกลักษณ์ของคอสเพลย์ นั่นคือ การแต่งกายเลียนแบบ หากไม่มีสิ่งนี้ คอสเพลย์จะไม่ต่างกับการแต่งชุดแฟนซีทั่วไป ทั้งยังรวมไปถึงการเลียนแบบ สวมบทบาท บุคลิก ท่าทาง ของตัวละครอีกด้วย

 

งานคอสเพลย์ครั้งแรกของประเทศไทย

สำหรับจุดเริ่มต้นของคอสเพลย์ในไทยนั้น ต้องแบ่งเป็น 2 แบบนั่นคือ งานแรกที่มีลักษณะของคอสเพลย์ในงาน กับงานแรกที่ใช้คำว่าคอสเพลย์

สำหรับงานแรกที่มีลักษณะคอสเพลย์ในไทยนั้น เท่าที่ระบุได้เก่าที่สุด คือ งาน “งานมหกรรมช่อง 9 การ์ตูน ส่งท้ายปี 2525 รับปีใหม่ปี 2526” ณ บริเวณลานจอดรถของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 ซึ่งมีการเปิดประกวดแต่งกายตัวการ์ตูน โดยมีเด็ก ๆ ได้เข้าประกวดเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยว่าสมัยนั้น ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการนำคำว่า “คอสเพลย์” มาใช้ โดยใช้เพียงแค่ว่า “ประกวดการแต่งกาย”

รูปงานมหกรรมช่อง 9 การ์ตูน ส่งท้ายปี 2555 รับปีใหม่ 2526 โดย PatStudio
คลิกที่รุปเพื่อดูภาพใหญ่

 

สำหรับช่วงเริ่มต้นใช้คำว่าคอสเพลย์นั้น ในช่วงเริ่มต้น การคอสเพลย์ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ “คอสเพลย์การ์ตูน” และ “คอสเพลย์ J-Rock”

งานแรกของคอสเพลย์การ์ตูนนั้นคืองาน ACHO Meeting ครั้งที่ 3 วันที่15 มีนาคม พศ. 2541 โดยกลุ่ม ACHO ซึ่งเป็นกลุ่มการ์ตูนกลุ่มแรกๆของสังคมการ์ตูน

สำหรับทาง J-Rock นั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นงานไหน แต่ด้วยกระแส Cosplay J-Rock นั้น ก็จะต้องมาจากทางดนตรี J-Rock เช่นวง X-Japan, Luna Sea, Dir en grey ฯลฯ ดังนั้นจึงเชื่อว่าคอสเพลย์ J-Rock จึงเริ่มมาจากงานพบปะผู้ที่ชื่นชอบใน J-Rock เหมือนกัน หรือ งานที่มีลักษณะการแสดงวง Cover Band เพลง J-Rock นั่นเอง

  รูปงาน ACHO Meeting ปี พ.ศ.2541 ( ค.ศ.1998) โดย Shunacho
คลิกที่รูปเพื่อดูรูปใหญ่

การเติบโตของคอสเพลย์ในประเทศไทย

กระแสคอสเพลย์ในไทยเริ่มค่อย ๆ ขยายในทีละกลุ่มมากขึ้น เช่น คอสเพลย์จากเกมนั้น ก็มีงานอย่างงานเกมออนไลน์ Ragnarok Online จัดการประกวดคอสเพลย์มาโดยตลอด คอสเพลย์จากการ์ตูน ก็มีงานอย่าง Vibulkij Comics Party, Cartoon & Animation ฯลฯ ในส่วนของทาง J-Rock นั้น ก็มีเหล่าคนผู้จัดจัดงานจำนวนมากขึ้น โดยควบคู่กับการแสดงสด Cover J-Rock

2001-2004
ถือเป็นช่วงเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้นของคอสเพลย์ในประเทศไทย โดยในช่วงระยะนี้ งานคอสเพลย์ส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับคอสเพลย์โดยตรง เช่น
งานที่จัดโดยสำนักพิมพ์การ์ตูน : Vibulkij Comics Party, BOOM Japanese Festival
งานที่จัดโดยค่ายเกม : งานเกม Ragnarok Online

รวมถึงงานของคนในสังคมการ์ตูน เกม เจร็อค คอสเพลย์จัดกันเอง เช่น
งานสายเจร็อค : EZCAPE, Bloody Evil Story
งานสายเกม : Game World Fair
งานสายการ์ตูน : Comic Market Thailand, Chiang Mai Comic Market

 

2005
เริ่มมีการจัดงานโดยผู้จัดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์คอสเพลย์โดยตรง โดยเป็นทั้งงานที่จัดสำหรับคอสเพลย์โดยเฉพาะ หรือ งานที่นำคอสเพลย์มาเป็นส่วนประกอบในงาน เช่น
จัดโดยห้างสรรพสินค้า : MBK J-Life Street
จัดโดยภาครัฐ : Thailand Animation & Multimedia
เป็นปีแรกของการจัดงาน Comic Party

 

2006
เป็นปีเริ่มต้นของงานคอสเพลย์ซีรียส์สำคัญหลายงาน เช่น J-Trends in Town, Japan Festa in Bangkok, Comicon Road
รวมไปถึงเป็นปีแรกที่มีการจัดประกวดหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งยังประเทศญี่ปุ่น World Cosplay Summit

2007
เป็นปีแรกที่มีงานเกิน 50 งานต่อปี
ปีแรกของงาน Thailand Game Show

 

การเติบโตสู่ต่างจังหวัด

งานคอสเพลย์และคอสเพลย์เยอร์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่เมื่อสังคมคอสเพลย์เริ่มขยายตัวไปนั้น ก็เริ่มมีงานที่จัดที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ มักเกิดจากการรวมตัวกันสร้างสังคมที่รักและชอบในเรื่องเดียวกัน และบางครั้งยังเป็นการรวมกลุ่มกันโดยตั้งเป็นชมรม เช่น

เชียงใหม่
โดยงานแรก ๆ นั้นเป็นงานการ์ตูนของทาง ชมรมการ์ตูนเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดงาน เชียงใหม่การ์ตูนและอนิเมชั่น ซึ่งงานที่คอสเพลย์เริ่มมีบทบาทในงานอย่างชัดเจนงานแรกก็คืองาน Freedom Cartoon & Animation 3 : Chiang Mai วันที่ 27-28 มีนาคม พ.ศ.2547 จัดที่ ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานนี้เป็นประจำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และมีงานอื่น ๆ จากผู้จัดเจ้าอื่น ๆ มากขึ้นรายชื่องานที่จัดในเชียงใหม่ เช่น
– งานการ์ตูนและอนิเมชั่นเชียงใหม่
– งานกาดการ์ตูนเชียงใหม่
– Comic Party (บางครั้ง)
– งาน Sing
– งาน  Maya Cosplay Contest

ตัวอย่างรูปจากงาน Freedom Cartoon & Animaion 3 ณ กาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่
27-28 มีนาคม พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004)
– คลิกที่รูปเพื่อดูรูปใหญ่-

ขอนแก่น
มีงานการ์ตูนงานแรกที่ชัดเจนคือ Ota Ota Suki วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2549 โดยชมรมการ์ตูนขอนแก่น จัดที่โรงแรมเจริญธานี ปรินเซส แม้ว่าจำนวนงานจะยังไม่มากเท่าเชียงใหม่ แต่ก็เป็นจังหวัดที่ 3 ที่มีงานคอสเพลย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันก็มีงานใหม่ ๆ ที่จัดโดยผู้จัดอื่น ๆ เป็นระยะรายชื่องานที่จัดในขอนแก่น เช่น
– Ota Ota Suki
– Gachapon
– C.O.S
– Tukcom Coverdance & Cosplay

นครราชสีมา
ซึ่งก็เคยมีงาน Honda Cover&Cosplay และยังมีงานที่จัดโดยกลุ่มชมรมคอสเพลย์นครราชสีมา หรือ กลุ่ม K-COS รายชื่องานที่จัดในขอนแก่น เช่น
– K-Cos Family

และยังรวมไปถึงจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการจัดงาน เช่น ชลบุรี, ระยอง, เลย, อุบลราชธานี, ฯลฯ เพียงแต่ยังไม่ได้จัดเป็นประจำนัก
อย่างไรก็ตาม สังคมคอสเพลย์ยังเป็นสังคมเล็ก ๆ รวมไปถึงว่าแต่ละจังหวัดก็มีองค์ประกอบแตกต่างกันไป อย่างไรเสีย จุดศูนย์กลางของคอสเพลย์ก็ยังเป็นกรุงเทพนั่นเอง

 

ความแตกต่างหรือจุดเด่นของคอสเพลย์เมื่อเทียบกับแฟนซี

การแต่งแฟนซี โดยพื้นฐานแล้วคือการ “แต่งกายที่แปลกตากว่าปกติทั่วไป” โดยไม่มีเกณฑ์หรือข้อกำหนดใด ๆ เป็นพิเศษ สามารถที่จะออกแบบ สร้างสรรค์ไอเดียอย่างไรก็ได้ ในบางครั้งอาจจะมีธีมซึ่งเป็นลักษณะธีมกว้าง ๆ อะไรก็ได้ เช่น ธีมอียิปต์ ธีมเครื่องแบบ ฯลฯ เมื่อเทียบกับคอสเพลย์แล้ว คอสเพลย์จะมีเอกลักษณ์คือ “การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร” ซึ่งมีความเจาะจงมากกว่า

 

อาจจะกล่าวได้ว่า คอสเพลย์แต่เดิมอาจจะเป็นรูปแบบการแต่งกายแบบย่อยของแฟนซี นั่นคือ เป็นการแต่งแฟนซีที่มีธีมว่าต้องเลียนแบบตัวละคร แต่เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบย่อยนี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และมีรูปแบบที่ชัดเจนจนสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองเป็นกิจกรรม “คอสเพลย์” ที่มีความเด่นชัดกว่าแฟนซีทั่วไปนั่นเอง

 

จุดที่แต่งต่างระหว่างแฟนซีและคอสเพลย์ คือ “การแต่งกายเลียนแบบ” หรือ “ความเหมือนต้นแบบ” นั่นเอง
[ สามารถอ่านบทความวิเคราะห์ได้ที่ ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay ]

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากไม่มีการบัญญัตินิยามคำว่าคอสเพลย์อย่างชัดเจน จึงยังมีการถกเถียงอยู่ในหลาย ๆ ประเด็น เช่น คอสเพลย์ไม่จำเป็นต้องมีความเหมือน หรือ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบต้นแบบก็ได้ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องนี้ก็คือ คอสเพลย์ออริจินอล นั่นเอง

 

ขั้นตอนการคอสเพลย์

สำหรับลักษณะการคอสเพลย์ของไทยนั้น มีทั้งในส่วนของการไปซื้อผ้า และ ตัดชุด, การว่าจ้างตัดชุด, การพรีออเดอร์ชุดคอสเพลย์, มีคนคอสเพลย์หลาย ๆ คนที่สามารถตัดชุดเองได้อีกด้วยดู ขั้นตอนการคอสเพลย์

See Also

Cosplayer
* Event

 

External links

1.Shunacho, “คอสเพลย์ครั้งแรกในประเทศไทย”
2.Patstudio, “ประมวลภาพการประกวดCOSPLAYครั้งแรกในประเทศไทย!!!”
3.TACES, “บันทึกงานคอสเพลย์”