สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ “ลิขสิทธิ์และคอสเพลย์” 

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสมาคมจำหน่ายคอนเทนต์ต่างประเทศ (CODA – Content Overseas Distribution Association) ได้มีการจัดงาน สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย – ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ ลิขสิทธิ์และคอสเพลย์ ณ ห้อง Function Eleven โรงแรมสยาม แอท สยาม ดีไซน์ กรุงเทพมหานคร

สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ และ คอสเพลย์"

โดยการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อร่วมกันให้ความรู้และความเข้าใจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างลิขสิทธิ์และกิจกรรมคอสเพลย์ซึ่งเป็นการแต่งกายเลียนแบบตัวละครที่ตัวเองรักหรือชื่นชอบ ทั้งจากมุมมองของคนคอสเพลย์ มุมมองของนักกฎหมาย รวมถึงมุมมองจากตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงจากญี่ปุ่น

ผู้ร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ทนายความ กลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

งานนี้ได้รับเกียรติจากคุณจิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ Dr. Yuriko Seki ผู้อำนวยการสำนักงานลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ หน่วยงานด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น (Agency for Cultural Affairs: ACA) ในการกล่าวเปิดงานในครั้งนี้

สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ และ คอสเพลย์" สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ และ คอสเพลย์"

คุณจิตติมา ศรีภาพร ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมด้าน Digital Contents เช่น ภาพยนตร์ อนิเมชั่น เกม ตัวละคร คาแรคเตอร์ ฯลฯ ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพราะการเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจึงมักจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงาน และเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งคอสเพลย์เป็นกิจกรรมที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี มีส่วนส่งเสริม ทำให้งานมีสีสัน น่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งเป็นเวทีแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการแต่งกาย

คอสเพลย์เกิดจากความชื่นชอบตัวละครนั้น ๆ เช่น แต่งกายเลียนแบบ อนิเมะ มังงะ ญี่ปุ่นต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยม  จะเห็นได้ว่าการแต่งคอสเพลย์กับลิขสิทธิ์มีความเชื่อมโยง ทั้งในแง่กฎหมายและวัฒนธรรม

วันนี้เป็นโอกาสอันดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ทางด้านกฎหมาย นักวิชาการ ผู้ที่สนใจ ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคอสเพลย์กับลิขสิทธิ์ทั้งในประเทสไทยและญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความนิยมคอสเพลย์อันดับต้นของโลก การได้ทราบแนวทาง แนวคิด ของทางญี่ปุ่น จะสามารถนำมาปรับใช้ได้ในประเทศไทยต่อไป

Dr. Yuriko Seki ได้กล่าวเปิดงานว่า ทางญี่ปุ่นกับไทยได้มีการจัดงานสัมมนาหรือกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านลิขสิทธ์มาโดยตลอด และมีความยินดีกับการสานสัมพันธ์ในด้านนี้ โดยทางญี่ปุ่นในตอนนี้ได้มีการใช้ Hello Kitty เป็นฑูตในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ โดยหวังว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย

วัฒนธรรมคอสเพลย์ในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างคึกคักมาก วันนี้คุณ Yoshihiro Ueno ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสฝ่ายกฏหมาย BANDAI NAMCO Arts Inc. และ ประธานกรรมการอำนวยการสมาคมแอนิเมชั่นแห่งญี่ปุ่น (The Association of Japanese Animation) จะมาพูดในเรื่องนี้ในส่วนของเอกชน รวมถึงที่มาที่ไปของโครงสร้างอุตสาหกรรม  มีที่มาอย่างไร และบทบาทลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร

การแลกเปลี่ยนความเห็นในวันนี้จะเป็นประโยชน์  และเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งขึ้นต่อไปในอนาคต

——–

โดยในช่วงแรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ลิขสิทธิ์และคอสเพลย์ในประเทศไทย” โดย

  • คุณสืบสิริ ทวีพล
    ทนายความหุ้นส่วน บริษัท ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศไทย
  • คุณคม กุญชร ณ อยุธยา
    หรือ Googgig เจ้าของเว็บไซต์ Props&Ops Cosplay Site สื่อทางด้านคอสเพลย์
  • รองศาสตราจารย์อรพรรณ พนัสพัฒนา
    อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย คุณเขมะศิริ นิชชากร ผู้อำนวยการกองป้อมปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา

สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ และ คอสเพลย์"

คุณคม กุญชร ณ อยุธยา ได้เล่าถึงความเป็นมาของคอสเพลย์ในประเทศไทย ตั้งแต่ราว 20 ปีก่อนที่กิจกรรมคอสเพลย์เริ่มค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น จากกลุ่มมีตติ้งเล็ก ๆ จนเริ่มมีการจัดงานและมีจำนวนงานมากขึ้นในแต่ละปี รวมไปถึงการขยายตัวของคอสเพลย์ไปยังตามต่างจังหวัดไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา พิษณุโลก ฯลฯ

และได้เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคอสเพลย์และตัวแทนหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เช่น การจัดงานหรือการประกวดคอสเพลย์โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีมาตลอดตั้งแต่ช่วงต้นของคอสเพลย์ในประเทศไทย รวมไปถึงการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของคอสเพลย์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับด้านลิขสิทธิ์ เช่น การจัดงานอีเวนต์ การได้มาของชุด เป็นต้น

คุณสืบสิริ ทวีพล กล่าวว่า คอสเพลย์นั้นมีการต้นแบบ ไม่เหมือนแฟนซีที่จะแต่งตัวอะไรก็ได้ เป็นการนำงาน 2 มิติมาแต่งให้เหมือนที่สุด ต้องดูลงลึกว่าแต่งแบบใดที่จะถือว่าเป็นการแต่งโดยมีต้นแบบที่มีลิขสิทธิ์ และแต่งแล้วนำไปใช้ในด้านใด เป็นการแต่งทั่วไปหรือว่านำไปใช้ทางการค้า

รวมไปถึงเรื่องของเครื่องหมายการค้า เช่น ถ้าเป็นเสื้อผ้าดีไซน์ธรรมดา ทำมาขายก็ไม่ผิดอะไร แต่ทันทีที่นำเครื่องหมายการค้ามาใส่ลงไปก็จะผิดทันที

รองศาสตราจารย์อรพรรณ พนัสพัฒนา ได้มองว่าคอสเพลย์ถือเป็นการดัดแปลงจาก 2มิติเป็น 3 มิติตามกฎหมาย และได้พูดถึงในประเด็นของ Fair Use และ Private Use ที่ต้องดูว่าการคอสเพลย์ในรูปแบบใดที่ยังอยู่ใน Fair Use และแบบใดที่อาจจะตีความว่าเกินกว่า Fair Use แล้ว

ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งในแง่กฎหมาย ลิขสิทธิ์ แง่การตลาด รวมไปถึงรูปแบบวัฒนธรรมย่อยของคอสเพลย์ ที่มุ่งหวังจะให้เห็นถึงแนวทางที่เป็นประโยชน์ทั้งกับเจ้าของลิขสิทธิ์และคนคอสเพลย์

——–

ในช่วงที่สองของงานนั้น เป็นการสัมมนาในหัวข้อ “ลิขสิทธิ์และคอสเพลย์ในประเทศญี่ปุ่นและแนวทางการขออนุญาตใช้สิทธิ์กรณีคอสเพลย์” โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Yoshihiro Ueno ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสฝ่ายกฏหมาย BANDAI NAMCO Arts Inc. และ ประธานกรรมการอำนวยการสมาคมแอนิเมชั่นแห่งญี่ปุ่น (The Association of Japanese Animation) ซึ่งเป็นการเสวนาผ่านทางออนไลน์ตรงจากประเทศญี่ปุ่น

โดยได้กล่าวถึงการเติบโตและแนวโน้มของอุตสาหกรรมอนิเมชั่นและที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ และได้ยกตัวอย่างเรื่อง Kimetsu no Yaiba ที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดตั้งแต่ปี 2019 รวมถึงได้แสดงข้อมูลสถิติว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 7 ของตลาดต่างประเทศที่มีจำนวนสัญญาลิขสิทธิ์กับคอนเทนต์ญี่ปุ่น

และได้ให้ความรู้ด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ญี่ปุ่น รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ในประเทศญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับงานแฟนทั้งหลาย เช่น โดจินชิ สินค้าโดจินต่าง ๆ

สัมมนาลิขสิทธิ์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ.2564 หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ และ คอสเพลย์"

ในส่วนของคอสเพลย์นั้น ได้พูดถึงมุมมอง แนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของตัวคอสเพลย์เอง และการจัดงานอีเวนต์คอสเพลย์ โดยได้ยกตัวอย่างงาน Anime Japan Cosplayer’s World ที่มีคอสเพลย์มาร่วมงานมากมาย โดยงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม, สมาคมแอนิเมชั่นแห่งญี่ปุ่น และสมาคมสำนักพิมพ์การ์ตูน

และยังได้พูดถึงข่าวกฎหมายลิขสิทธิ์คอสเพลย์ในประเทศญี่ปุ่นที่มีข่าวก่อนหน้านี้ ว่าทางฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์ก็กำลังติดตามอยู่เหมือนกันเพราะเป็นเรื่องการดำเนินการทางฝั่งภาครัฐ

——–

ก็ถือเป็นการสัมมนาที่ได้ความรู้และความเข้าใจมากทางด้าน ลิขสิทธิ์ ยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสอันดีที่หาได้ยากกับการได้พูดคุยในเรื่องของคอสเพลย์โดยตรงกับทางฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะได้สร้างประโยชน์และแนวทางของคอสเพลย์ในอนาคตต่อไป

 

COSPLUS by Props&Ops

by Googgig & Xora
Photo by Xora