J-Rock Cosplay หรือ Japanese Rock Cosplay คือการแต่งคอสเพลย์อีกแนวหนึ่งเพราะวงดนตรีร็อคของญี่ปุ่นมักมีการแต่งตัวที่มีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากชาติอื่น ทำให้เป็นที่นิยมในการแต่งคอสเพลย์ โดยมีต้นแบบจากศิลปินวงร็อคญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ดังนั้น J-Rock Cosplay ก็ถือเป็นแนวการคอสเพลย์เลียนแบบศิลปินด้วยนั่นเอง

ตัวอย่างการคอสเพลย์วง Dir En Grey (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)

การแต่งกายของสมาชิกแต่ละคนในวง โดยมากแล้วจะสอดคล้องเป็นธีมเดียวกัน เช่น Malice Mizer เป็นวงร็อคที่ผสมผสานแนวเพลงบัลลาด ทำให้เสื้อผ้ามีสไตล์ของยุควิคตอเรียน เพื่อให้เข้ากับเพลงและสร้างเอกลักษณ์อันเป็นจุดขายให้กับวงด้วย

การแต่งคอสเพลย์เจร็อคนั้น คือต้องสามารถบอกได้ว่า แต่งคอสเพลย์จากวงอะไร เป็นใคร เล่นเครื่องดนตรีอะไร และแต่งในอิมเมจหรือลุคไหน เป็นเฉพาะเจาะจงได้ เพราะอาจสับสนระหว่างคอสเพลย์เจร็อคกับการแต่งตัวแนวพังค์ โกธิค รวมถึงโกธิคโลลิต้าได้ เพราะบางวง ได้รับอิทธิพลการแต่งตัวจากแฟชั่นในแนวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การแต่งกายตามแฟชั่นสไตล์ดังที่กล่าวมานั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคอสเพลย์เจร็อค เนื่องจากไม่ได้แต่งตามตัวแบบศิลปินดังความหมายของการแต่งคอสเพลย์เพื่อ เลียนแบบวงศิลปินเจร็อคที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

ข้อเปรียบเทียบที่น่าสนใจกับคอสเพลย์การ์ตูน

เนื่องจาก หากพูดถึงคำว่า คอสเพลย์นั้น ส่วนมากจะคิดถึงการคอสเพลย์การ์ตูนเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงยกนำมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและแตกต่างของคอสเพลย์ทั้ง 2 ประเภทนี้

ต้นแบบของการคอสเพลย์

การ์ตูน : คือการแต่งกายเลียนแบบ การ์ตูน ตัวละคร ที่ชอบนั้นๆ
J-Rock: คือการแต่งกายเลียนแบบ วงดนตรีร๊อคญี่ปุ่น หรือ ศิลปินนั้นๆ

ตัวอย่างการคอสเพลย์จากวง Malice Mizer (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)

รูปแบบวิธีการแต่งตัว
การ์ตูน : คือการคอสโดยแกะแบบจากสิ่งที่ไม่มีจริง หรือ สิ่งที่เป็นจินตนาการในการ์ตูน โดยทำออกมาให้เป็นจริง จุดเด่นจึงเป็นการดัดแปลงสิ่งที่อาจจะไม่สามารถเป็นได้จริงในโลกนี้ ให้ออกมาเป็นรูปธรรม (จากจินตนาการสู่ความจริง)
J-Rock : คือการคอสโดยแกะแบบจากสิ่งที่มีจริงอยู่แล้ว เพราะชุด เครื่องแต่งกายของวงศิลปินนั้น มีจริงในโลกนี้ จุดเด่นจึงเป็น การเสาะหาวิธีทาง เพื่อให้ได้วัสดุ ผ้า และอุปกรณ์ที่เหมือนต้นแบบที่สุดเท่าที่จะหาได้ ให้ออกมาเป็นรูปธรรม (จากความจริง สู่ความจริง)
จะเห็นได้ว่า ในความแตกต่างกันนั้น ก็มีความคล้ายคลึงแฝงอยู่ในตัวของทั้ง 2 ประเภท หรือจะกล่าวได้ว่า แม้รูปแบบ วิธีการจะแตกต่างกัน แต่เป้าหมายนั้นมีอย่างเดียวกัน นั่นคือ การแต่งกายเลียนแบบให้เหมือนกับต้นแบบที่ตัวเองรักและชื่นชอบนั่นเอง

ความเป็นมา และลักษณะสังคมเจร๊อคในปัจจุบัน

การมีคอสเพลย์เจร๊อคในไทยนั้น มีมาพร้อมกับกระแสวงดนตรีญี่ปุ่น เช่น X-Japan, Dir en Grey ซึ่งเป็นวงที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างสูง หรือ Malice Mizer ที่มีชุดแต่งกายที่โดดเด่น และเป็นพื้นฐานของ Visual Kei ซึ่งพอประมาณนิยามได้ว่าเป็นวงดนตรีที่นอกจากเน้นถึงฝีมือการแสดงดนตรีแล้ว ยังคำนึงถึงภาพลักษณ์ คอนเสปของชุดที่ใส่ของวงอีกด้วย

งาน J-Rock ในสมัยแรกนั้น มักจะจัดตามผับ โดยมีการแสดงวงดนตรี Cover Live ศิลปินต่างๆ เช่น X-Japan , Dir en Grey เป็นต้น

ในปัจจุบัน งานที่จัดตามผับจะมีจำนวนน้อยลงไปมาก เพราะคอสเพลย์ J-Rock และ คอสเพลย์การ์ตูน เริ่มเข้าถึงกันและกลืนกันมากขึ้น จึงทำให้เห็นการคอสเพลย์ J-Rock จะอยู่ในงานประเภท สไตล์ญี่ปุ่น เช่น J-Trends in Town เป็นต้น

ตัวอย่างการคอสเพลย์จากวง The GazettE (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)

สิ่งที่ควรพึงสังเกต

เนื่องจากวง J-Rock นั้น หลายๆวงจะได้วิธีการแต่งตัวมาจากแนวแฟชั่น เช่น มีรูปแบบไปทางแฟชั่นพังค์ ดังนั้น จึงมีการแต่งกายแบบพังค์ โกธิค ที่ใกล้เคียงกับการคอสเพลย์ J-Rock มาก จนบางครั้งจึงโดนเหมารวมกัน เพื่อความเข้าใจนั้น จึงขอเน้นถึงแก่นที่ คอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบ นั่นคือ

ตัวอย่าง :

สไตล์พังค์ => วง A แต่งสไตล์พังค์ โดยมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง => คอสเพลย์เยอร์แต่งกายตามวง A = คอสเพลย์
สไตล์พังค์ => คอสเพลย์เยอร์แต่งกายพังค์ = คอสตูม หรือ แค่แต่งกายแฟชั่นพังค์
ทั้งนี้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ความแตกต่างของตรงนี้นั้นเบาบางมาก แต่เป็นแก่นสำคัญของคอสเพลย์ เพราะนั่นคือ การแต่งกายเลียนแบบต้นแบบนั่นเอง