…”รักจริง ถึงแต่ง…คอสเพลย์!”
Cosplay news around the world
เป็นหมวดที่ Cosplus จะนำข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสังคมคอสเพลย์จากที่ต่าง ๆ มาลงโดยมีการเครดิตถึงแหล่งที่มา
…………………………
khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1qQXdNakU0T1E9PQ==&catid=02
วันที่ – 17 มีนาคม พ.ศ.2555
เขียนโดย – Tap Patipan
“รักจริง ถึงแต่ง…คอสเพลย์! (Cosplay)”
ในสายตาคนไทยทั่วไป การแต่งคอสเพลย์ (Costume Play) ยังถูกมองด้วยสายตาที่ตื่นตาตื่นใจระคนฉงนฉงาย และมีบ้างไม่น้อยที่ชื่นชมผมก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่รู้จักการคอสเพลย์แค่เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าสำหรับในไทยทุกวันนี้ มันไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วหลังได้รับการชักชวนจากเพื่อนหนุ่มผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจคนหนึ่งให้ไปด้วยกันในงาน “ไทย-เจแปน แอนิเมะ แอนด์ มิวสิค เฟสติวัล” ครั้งที่ 2 ที่ลานน้ำพุสยามพารากอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพราะจะมีคนแต่งคอสเพลย์มาร่วมด้วย
…ก็น่าจะลองไปดู
แดดในวันนั้นร้อนแทบจับไข้เหมือนในวันนี้ แต่ปริมาณคนในบริเวณงานกลับหนาตาขึ้นเรื่อย ๆ และมีคนเดินสยามให้ความสนใจมาถ่ายรูปผู้แต่งคอสเพลย์หรือที่เรียกกันว่าเลเยอร์กันไม่น้อย จากการสอบถามเลเยอร์หลาย ๆ คนที่มาโชว์ตัวในวันนี้ บอกกับเราว่าส่วนใหญ่แล้วที่มาแต่งคอสเพลย์ ก็จะเป็นคนรู้จักคุ้นหน้าคุ้นตากันทั้งนั้น แม้แต่ช่างภาพหลาย ๆ คนก็เป็นขาประจำที่ติดตามเก็บภาพให้กันแทบจะทุกงาน ถึงขนาดว่าช่างภาพเป็นบุคคลากรสำคัญที่ขาดไม่ได้เวลามีรวมตัวคอสเพลย์เลยทีเดียว
ถ้าจะถามว่าทำไมถึงสำคัญขนาดนั้น ก็เพราะว่าเมื่อจบงานไปในแต่ละวัน สิ่งที่จะมาบอกเล่าภาพความประทับใจ
นอกเหนือจากความทรงจำและคำบอกเล่าแล้ว ในพ.ศ.แห่งโซเชี่ยลมีเดีย ภาพถ่ายดี ๆ ถ่ายทอดภาพพจน์
ที่เหล่าเลเยอร์คาดหวังจะเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
ลังเลอยู่หลายอึดใจ ผมก็ถือวิสาสะ เข้าไปสอบถามเลเยอร์กลุ่มหนึ่งที่เล็งไว้ และก็ปรากฎว่า เป็นความโชคดีโดยบังเอิญ ที่ได้พบกับนักแต่งคอสเพลย์ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “รุ่นใหญ่” (แม้พวกเธอจะไม่อยากจะให้เรียกแบบนั้นก็ตาม) โดยจะมาไขข้อข้องใจว่าคอสเพลย์ไม่ใช่เรื่องของเด็กกะโปโล อย่าเอาไปปนกับพริตตี้ ความน่าสรรเสริญยกย่องของคนคอสเพลย์ด้วยกัน และคนคอสไทยไปคอสเพลย์โลก!
กลุ่มเลเยอร์ที่ไม่ประสงค์จะออกนามนี้ได้ให้เกียรติสละเวลาจาระไนให้เราฟังว่า คอสเพลย์ในไทยนั้นเริ่มกันมานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยจะมีกลุ่มของ เจร็อค และ คัฟเวอร์แดนซ์นำร่องมาก่อน แรกเลยจะเป็นการมีตติ้งกันในกลุ่มเล็ก ๆ แล้วมารวมตัวกันกว้างขึ้นเมื่อมีงานเทศกาลคอมมิคส์ญี่ปุ่นซึ่งจัดโดย เครือวิบูลย์กิจ
ซึ่งก็น่าจะให้เครดิตที่ได้สนับสนุนกันในครั้งนั้นด้วย กอปรด้วยช่องทางของสังคมออนไลน์จึงกลายมาเป็นกิจกรรมที่กว้างขวางขึ้นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
ทำไมต้องแต่งคอสเพลย์?
นี่เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ผู้เลือกเส้นทางมาเป็นเลเยอร์มักเจอกันบ่อย และเป็นสิ่งที่เราสงสัย ทั้งเลเยอร์กลุ่มนี้และกลุ่มอื่น ๆ เท่าที่เราได้ไปพูดคุย ได้ให้คำตอบแก่เราไปในทางเดียวกันว่าเพราะชอบ เพราะรัก ในตัวละครนั้น ๆ ตัวละครจากเรื่องราวต่าง ๆ ล้วนมีบุคคลิก รูปร่าง หน้าตา ลักษณะนิสัยแตกต่างกันออกไป ซึ่งในการที่จะตัดสินใจชอบตัวละครไหน เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวล้วน ๆ
“คนเรา เมื่อรักอะไรสักอยาก ก็ต้องอยากแสดงออกเป็นธรรมดา และเมื่อการที่ออกมาแสดงออกนั้นมันทำให้ได้พบปะกับผู้คนที่มีรสนิยมไปในทางเดียวกัน และยิ่งถ้าหากได้รับการยอมรับ ทำไมจะไม่อยากแสดงออกล่ะ”
ในการแสดงออกนี้ ก็ไม่ได้แสดงออกกันอย่างผิวเผิน ไม่ได้แสดงออกเพียงแค่คำพูด หากแต่ยังต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายาม พยายามที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ารักในสิ่งที่ทำจริง ๆ
“มีหลาย ๆ คนรู้จักการตัดเย็บก็เพราะแต่งคอสเพลย์”
นี่เป็นคำพูดจากปากเลเยอร์หลายคนที่ได้พูดคุยกัน เพราะการที่คนคนหนึ่งจะแต่งเป็นคาแร็คเตอร์อะไรสักอย่างนั้น เขาจะต้องเอาตัวลงไปคลุก ให้เวลาจนรู้จักคาแร็คเตอร์นั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่ทรงผม สีของดวงตา รายละเอียดเสื้อผ้า หากแต่ยังลงลึกไปถึง นิสัยใจคอ พฤติกรรมเฉพาะตัว
ไปจนถึงการมองโลกโดยผ่านตัวละครนั้น ๆ เลยทีเดียว
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีใครบังคับใคร รู้สึกตัวอีกที ก็เข้าอกเข้าใจตัวละครนั้นไปแล้ว เหมือนเป็นคนสนิทคนหนึ่งที่มีตัวตนจริงจับต้องลูบคลำได้ไปแล้ว
จึงไม่แปลก ที่เลเยอร์หลายคนน้อยอกน้อยใจให้เราได้ยินว่า คนทั่วไปมักชอบเอาคนแต่งคอสเพลย์ไปรวมกับพริตตี้
และที่ร้ายกว่านั้น เวลาจ้างไปออกงานโชว์ตัวในแต่ละครั้ง ก็ถูกกดค่าตัวซะต่ำจนน่ารังเกียจ ทั้ง ๆ ที่ความอุตสาหะในการเตรียมตัว ต้นทุน เสื้อผ้าหน้าผม ค่าเดินทาง ทุกสิ่งอย่าง ไม่ได้มีราคาถูกกว่ากันเลย และอาจจะแพงกว่าด้วยซ้ำในบางกรณี
จริงอยู่ที่ก็มีอยู่บ้างที่พริตตี้อาจจะไปเช่าหรือซื้อชุดคอสเพลย์มาใช้ หรือแม้แต่ในหนังดูเล่นสำหรับผู้ใหญ่ที่มีบางเรื่อง
นางเอกแต่งตัวเป็นตัวคาแร็กเตอร์ต่าง ๆ ก็มีให้เห็นได้บ่อย (หากจะไปเสาะหามาดู)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอให้ดูว่าทั้งวัตถุประสงค์และอุดมการณ์มันต่างกัน การแต่งชุดของพริตตี้หรือนางเอกเอวี อาจจะแต่งเพื่อความดึงดูดความน่าสนใจ เป็นกิมมิก หรือกระตุ้นอารมณ์ความต้องการเร้นลับบางอย่าง แต่กับการแต่งคอสเพลย์มันไม่ใช่
นี้จึงเป็นเหมือนสารละลายบางอย่างที่มาสลายก้อนข้องใจเล็ก ๆ ของข้าพเจ้าเกี่ยวกับว่าทำไม (ขอเสียมารยาทหน่อย)
บางคนนี้แบบอ้วนดำ ขาโต๊ะสนุ๊ก แต่ใส่ชุดนักเรียนญี่ปุ่น กระโปรงบานสั้นพริ้ว โชว์ลำขาหนางามพ่วงพี
“เราไม่ได้ดูกันที่หน้าตาค่ะ”
“บางคนนี่เราก็แอบคิดเหมือนกันนะว่า ไม่เหมาะ แต่แหม ต้องยอมอ่ะ ยอมแพ้ความพยายาม ต้องยกให้เค้าจริง ๆ”
“เอ๊ย เราก็เข้าใจนะ เราก็นึกถึงสมัยเราคอสแรก ๆ ไง แหมขาเราก็โต๊ะสนุ๊ก แต่คนเราก็ต้องมีการพัฒนาจริงไหม เดี๋ยวครั้งต่อไปก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ต้องให้กำลังใจกัน”
แม้ในวันนี้การแต่งคอสเพลย์ในไทยอาจจะยังไม่แพร่หลายขนาดมีงานคอสเพลย์รวมตัว และร้านขายของแต่งคอสเพลย์ในทุกเมืองอย่างที่ญี่ปุ่น ยังไม่มีมูลค่าทางธุรกิจใหญ่โตขนาดจะเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวได้ แต่ตอนนี้ในไทยเราก็มีคนสร้างอาชีพได้จากการรับทำเสื้อผ้าและอุปกรณ์แต่งคอสเพลย์มานานแล้ว และก็มีเลเยอร์ไทยได้รับเกียรติ ให้ไปร่วมงานคอสเพลย์ที่ญี่ปุ่นมาแล้วด้วย ซึ่งที่มาคุยกับเราวันนี้ก็มีอยู่คนหนึ่งด้วย
สุดท้ายนี้ถ้าจะให้ข้าพเจ้ากล่าวอะไรปิดท้ายเสียเองก็ดูจะกระไรอยู่ จึงขอเชิญท่านผู้อ่านรับฟังเสียงของเลเยอร์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งด้วยกันดูสักหน่อย พูดได้น่าฟังดีทีเดียว
“มันก็เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง เหมือนกับเล่นกีฬา เราก็แค่ทำในสิ่งที่เราชอบไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครนี่คะ ไม่ได้ไปโหวกเหวกโวยวาย ตีกันหัวร้างข้างแตก หรือปาดอกไม้ไฟ แล้วก็ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าเชียร์บอลไทยลีกส์อีกนะคะ”
แล้วยังมีเหล่าคอสเพลย์และช่างภาพอีกหลายชีวิตที่น่าจะกล่าวถึงแต่ไม่ได้กล่าวถึง อาจจะมีตกหล่นไปบ้าง คงไม่ว่ากัน
ผมจึงอยากจะขอบคุณและขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
สวัสดี
…………………………
khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1qQXdNakU0T1E9PQ==&catid=02
วันที่ – 17 มีนาคม พ.ศ.2555
เขียนโดย – Tap Patipan
Comment Here