ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay

สวัสดีครับ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกัน(อย่างน้อยก็ในสังคมคอสเพลย์ละ) ว่านิยามของคอสเพลย์ (Cosplay) ที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดนั่นคือ “การแต่งกายเลียนแบบ” ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูน เกม ภาพยนต์ นิยาย ฯลฯ โดยเป็นการแต่งกายเลียนแบบด้วยใจที่รัก ที่ชอบในเรื่องนั้น ๆ ในตัวละครนั้น ๆ นั่นเอง

แต่สำหรับคนทั่วไปหรือผู้ที่ไม่ได้ทราบความหมายของคอสเพลย์นั้นก็ไม่ผิดและแปลกอะไรถ้าหากเค้าจะมองเห็นเป็นเพียงกลุ่มเด็ก ๆ ที่แต่งกายแปลก ๆ สีสันฉูดฉาด ไม่ได้ต่างอะไรกับชุดแฟนซีทั่ว ๆ ไป

วันนี้ เลยอยากจะลองวิเคราะห์ไปยังศัพท์ทั้ง 3 คำที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ขาดนั่นคือ แฟชั่น แฟนซี และคอสเพลย์

 

— แฟชั่น | Fashion —

คำว่าแฟชั่นนั้น เมื่อค้นในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน แปลเป็นไทยว่า “สมัยนิยม, แบบหรือวิธีการที่นิยมกันทั่วไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง”

ให้เห็นภาพอย่างง่าย ๆ ก็คงเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบคือ ณ สมัยหนึ่งการที่ผู้หญิงใส่กางเกงนั้นเป็นเรื่องที่แปลก เพราะอะไร? เพราะสมัยนั้น ด้วยค่านิยมต่าง ๆ จะมองว่า ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น กางเกงเป็นของผู้ชาย แต่สำหรับปัจจุบัน การที่เราได้เห็นผู้หญิงใส่กางเกงนั้น เป็นสิ่งที่ปกติทั่วไป ด้วยค่านิยมใหม่ในสังคมที่มองว่า การใส่กางเกงของผู้หญิงไม่ได้แปลว่าไม่เป็นกุลสตรี

เพราะฉะนั้น
ชุดแฟชั่นนั้น น่าจะแปลคร่าว ๆ ได้ใจความว่า “ชุดที่ใส่โดยที่เป็นสมัยนิยม”

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay

ค่านิยมนั้นก็ตัดสินมาจากว่าในสมัยนั้น ๆ มองว่า ชุดแบบไหนสวย แบบไหนเก๋ แบบไหนทันสมัย และแบบไหนเหมาะกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แยกย่อยไปตามแต่ละท้องที่วัฒนธรรมไป เช่น ในขณะที่วัฒนธรรมส่วนใหญ่บนโลกนั้นกระโปรงจะเป็นชุดแต่งกายของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายจะไม่ใส่กัน หากผู้ชายใส่ก็จะกลายเป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ ในสังคมทั่วไป แต่ที่สก๊อตแลนด์ กลับกลายเป็นว่ามีวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์คือ ผู้ชายจะใส่กระโปรงที่เรียกว่า คิลท์ (Kilt)

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay
รูปตัวอย่าง กระโปรงแบบสก๊อตแลนด์ Kilt

ตัวแฟชั่นนั้นพัฒนาผ่านสมัยนิยมมาหลายร้อยปี หลายพันวัฒนธรรม จนทำให้สามารถแยกหมวดหมู่แฟชั่นตามรูปแบบที่แตกต่างกัน นั่นคือ “สไตล์” นั่นเอง

เราจะเคยได้ยิน เช่น
– แฟชั่นสไตล์ตะวันตกทั่วไป
– แฟชั้นสไตล์โกธิค โลลิต้า
– แฟชั่นสไตล์พังค์
– แฟชั่น Hip-Hop, Street Wear, Britpop
– แฟชั่น Indie, Emo, Hipster

ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละสไตล์นั้น ก็ล้วนพัฒนาแยกย่อยสร้างเอกลักษณ์เป็นแนวทางของตัวเองไป

จะเห็นได้ว่าคำว่าแฟชั่นนั้น ครอบคลุมเกือบจะทุกสิ่งในเรื่องของการแต่งกายในรูปแบบต่าง ๆ (จริง ๆ แล้วรวมไปถึงเรื่องของทรงผม เครื่องประดับ ฯลฯ)

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay
หากเปรียบแฟชั่นเหมือนวงกลมวงใหญ่วงหนึ่ง ก็จะมีหมวดหมู่สไตล์แฟชั่นอีกมากมาย
ที่พัฒนาแนวทางของตนเอง บ้างก็ซ้อนกันอยู่ในคำว่าแฟชั่นนั่นเอง

 

แล้วแฟนซีคืออะไร?

— แฟนซี | Fancy —

Fancy ตามศัพท์พจนานุกรม แปลว่า ไม่ธรรมดา, จินตนาการ เพราะฉะนั้น หากสรุปนิยามอย่างง่ายก็จะเป็นว่า การแต่งกายแฟนซีนั้น หมายถึง การแต่งกายที่ไม่ธรรมดาหรือแต่งกายด้วยจินตนาการ คำว่าไม่ธรรมดานั้น ก็คือ ไม่ธรรมดาจากสมัยนิยมนั่นเอง

ปกติเราคงไม่ใส่ชุดฟาโรห์เดินทางไปทำงาน
ปกติเราคงไม่ใส่ชุดทหารโรมันไปเที่ยวพักผ่อน
และเราคงไม่ค่อยได้เห็นผู้คนใส่ชุดปีศาจ เดินไปเที่ยวตามห้าง

โดยปกติแล้ว การใส่ชุดแฟนซีนั้นมักจะนิยมใส่กันไปปาร์ตี้ หรือ Fancy Party โดยแต่ละงานอาจจะมีธีมคร่าว ๆ แตกต่างกันไป บางทีอาจจะไปในเชิงว่าตามจินตนาการแล้วแต่ ในขณะที่บางครั้งก็มีธีมงานอย่างฮาโลวีน ที่คนก็นิยมแต่งผีกัน

แฟนซีนั้นมีเรื่องของ “จินตนาการ” “คิดขึ้นมาเอง” สูงมาก เช่นแต่งชุดแฟนซีผี บางคนก็อาจจะออกแบบเป็นใส่เขาบนหัว ติดหางสีแดง ใส่ชุดสีเขียว สายสะพายเขียนว่า Devil ฯลฯ ตามแต่แต่ละคนอยากจะให้ออกมาเป็นอย่างไร

จะเห็นได้ว่าจะไม่มีต้นแบบที่ตายตัวมากนัก หากแต่จะมีในเรื่องของคอนเสปคร่าว ๆ เสียมากกว่า

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay

*แต่บางครั้งเราก็เห็นชุดแฟนซีที่เป็นตัวละครนะ เช่น ขุดแฟนซีแบทแมน ชุดแฟนซีซุปเปอร์แมน
ก็อาจจะกล่าวได่ว่า นั่นเป็นการแต่งชุดแฟนซีที่เริ่มพัฒนา มีคอนเสปการแต่งกายเลียนแบบตัวละครมากขึ้น
หรือกล่าวได้ว่า เริ่มพัฒนากลายเป็นคอสเพลย์นั่นเอง

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay
แฟนซีนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะมีความแตกออกมาจาก “สมัยนิยม” มีความไม่ธรรมดาและจินตนาการ นอกกรอบสมัยนิยม

จนมาถึงคำว่า “คอสเพลย์”

— คอสเพลย์ | Cosplay —

บางครั้ง เราอาจจะคิดง่าย ๆ ว่า ถ้า Cosplay เป็นหมวดแยกย่อยออกมาจาก Fancy ละ

ถ้าจะบอกว่า คอสเพลย์ ก็คือ การแต่งกายแฟนซีรูปแบบหนึ่ง “แต่มีการระบุว่าจะแต่งตัวเป็นตัวละครไหน ตัวอะไร จากเรื่องใด ๆ เป็นหลัก” อาจจะมองพอได้อยู่เหมือนกัน

 

Cosplay นั้น มาจากคำว่า Costume + Play หรือแปลตรง ๆ เลยว่า เล่นเสื้อผ้า โดยนิยามตรง ๆ นี้จะสังเกตได้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับคำว่า Fancy พอสมควร การใช้นิยามคอสเพลย์ในรูปแบบนี้ มักจะใช้ในเชิงเล่นเสื้อผ้า เช่น ใส่ชุดนางพยาบาล ใส่ชุดแอร์โฮสเตส โดยที่ไม่ได้มีอาชีพนั้น ๆ โดยตรงหรือเพื่อทำหน้าที่นั้นโดยตรง ซึ่งก็ยังมีความคล้ายคลึงกับคำว่าแฟนซีอยู่บ้าง เพียงแต่อาจจะเน้นไปที่ การใส่ชุดเล่น มากกว่า การจินตนาการให้ชุดออกมาตามจินตนาการ

จะกล่าวว่า Cosplay เป็น เล่นเสื้อผ้า Costume Play คือนิยาม ที่แปลตรงตัวความหมายจากคำศัพท์โดยตรง

แต่ในเวลาที่ผ่านมา ความเป็นวัฒนธรรมคอสเพลย์นั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จากการเล่นแต่งกายที่ไม่ต่างจากแฟนซี เริ่มมีการแต่งกาย “เหมือน” ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งมากขึ้น เริ่มเหมือนเซเลอร์มูน เริ่มเหมือนหงอคง เริ่มเหมือนสไปเดอร์แมน เป็นต้น
กาลเวลาพัฒนาให้คอสเพลย์สร้างเอกลักษณ์ที่แยกออกมาชัดเจนจากคำว่า Fancy ด้วยนิยามว่า “การแต่งกายเลียนแบบเพื่อเหมือนตัวละคร” นั่นเอง

จะกล่าวว่า คอสเพลย์ เป็น การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร คือนิยามที่พัฒนาต่อยอดมาเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ยอมรับในนิยามความหมายของคอสเพลย์

อาจจะกล่าวได้ว่า นิยามของคอสเพลย์มี 2 แบบ คือ “เล่นเสื้อผ้า เล่นแต่งกาย” และ “แต่งกายเลียนแบบ”

*เพิ่มเติม
หากมองในมุมกลับกัน จะกล่าวว่า การใช้คำว่า Cosplay ด้วยความหมายนิยามแตกต่างกัน 2 ทาง ถ้าหากเราสมมุตว่า มีการแบ่งประเภทนิยาม เช่น

คอสเพลย์ ประเภท X คือ แต่งกายเลียนแบบ
คอสเพลย์ ประเภท Y คือ เล่นแต่งกาย

คอสเพลย์ทั้งสองประเภทก็มักจะเห็นคละกันไปตามงานต่าง ๆ
ปัจจุบัน เวทีการประกวดก็จะมีเป็นการประกวด Cosplay ประเภท X เป็นหลักเพราะมีการให้คะแนนความเหมือน ในขณะที่ Cosplay Y นั้นก็จะเน้นไปที่เดินเล่น ใส่ชุดเล่น เล่นแต่งกายเดินตามงานเสียมากกว่า

*เพิ่มเติม
การคอสเพลย์นิยาม แต่งกายเลียนแบบนั้น คำว่าเลียนแบบนั้นไม่ได้จำเป็นต้องมีต้นแบบที่อลังการงานสร้าง หรือ มีชุดที่สวยงามอลังการ ประเด็นคือ การเหมือนต้นฉบับ

ยกตัวอย่าง เช่น ชุดเสื้อเชิ๊ตขาวธรรมดา ๆ กางเกงสแล๊คสีดำ ซึ่งเป็นชุดปกติทั่วๆไป
แต่หากเริ่มมีการเก็บรายละเอียด ทรงผม การสวมบทบาทต่าง ๆ จากชุดธรรมดา ๆ ก็กลายเป็นการคอสเพลย์ได้ เหมือนตัวละคร อิคาริ ชินจิ นั่นเอง

 


นิยามของคำว่าคอสเพลย์บน Wikipedia แปลเป็นไทยได้ความคร่าว ๆ ว่า
“Cosplay หรืออย่อสั้น ๆ จากคำว่า costume play เป็นรูปแบบประเภทของศิลปะการแสดงที่ร่วมด้วยการแต่งกายชุดแต่งกาย (costumes) และสื่งประดับตกแต่งต่าง ๆ (accessories) เพื่อแสดงออกเจาะจงตัวละครหรือความคิดไอเดีย คอสเพลย์เยอร์บ่อยครั้งที่จะแสดงออกหรือสร้างวัฒนธรรมย่อยในการที่จะสวมบทบาท”

โดยสรุปแล้ว นิยามปัจจุบันสากลของคอสเพลย์นั้น จะเป็นเรื่องของการแต่งกายเจาะจงเป็นตัวละครใดตัวหนึ่งและสวมบทบาท

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay
กล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งของคอสเพลย์นั้นพัฒนาต่อยอดมาจากคำว่าแฟนซี ตรงที่ มีการระบุถึงการแต่งตัวเลียนแบบตามตัวละคร รวมไปถึงการสวมบทบาท

มาจนถึงจุดนี้ เริ่มจะพอเห็นถึงความแตกต่าง จุดเด่น และเอกลักษณ์หัวใจของ แฟชั่น แฟนซี และคอสเพลย์ ขึ้นหรือยังครับ

แต่ในคำว่าแฟนซีและคอสเพลย์นั้น ก็มีอีกคำหนึ่งที่เป็นเหมือนโซ่คล้องเข้าด้วยกันไว้ และอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 คำนี้พอดี นั่นคือ
“คอสเพลย์ ออริจินอล”

 

— คอสเพลย์ออริจินอล | Cosplay Original —

ต้องยอมรับก่อนว่า คำว่าคอสเพลย์ ออริจินอลนั้น ยังเป็นนิยามที่ยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่จะกล่าวได้ว่า ที่เป็นที่เข้าใจกันมากที่สุด คือ การแต่งคอสเพลย์จากตัวละคร หรือ อะไรสักอย่างที่เีราคิดขึ้นมาเอง

ในจุดนี้ คอสเพลย์ออริจินอล มีจุดคล้ายคลึงกับแฟนซีค่อนข้างสูงมากนั่้นคือ “การคิดขึ้นมาเอง”
ในขณะที่ความเหมือนในแง่ของคอสเพลย์นั้น ยังค่อนข้างคลุมเครือ เนื่องด้วย การบอกว่าคอสเพลย์เหมือนกับที่เราคิดขึ้นมา กับการแต่งแฟนซีด้วยชุดที่เราคิดขึ้นมานั้น จะเห็นได้ว่า จะเกือบแยกไม่ออกว่าความหมายต่างกันอย่างไร

ในจุดนี้ คอสเพลย์ออริจินอลนั้นจะมีความไปคล้่ายคลึงกับแฟนซีสูงกว่าคอสเพลย์
อีกข้อบ่งชี้หนึ่ง คือ การประกวดคอสเพลย์
จะเห็นได้ว่า ในทุกการประกวดคอสเพลย์นั้น นอกจากความสวย ความสร้างสรรแล้ว “ความเหมือน” เป็นหัวใจของการประกวดทุกเวทีของการประกวดคอสเพลย์

การคอสเพลย์ที่มีต้นแบบนั้น เวลาขึ้นประกวดนั้นก็จะสามารถ ให้คะแนนได้ทั้งความสวย ความสร้างสรร (เช่น การใช้วัสดุ การเลือกใช้ผ้า) และความเหมือน (สามารถเทียบกับต้นแบบได้)
ในขณะที่แฟนซี หากขึ้นประกวดคอสเพลย์ อาจจะมีปัญหาเวลาให้คะแนนความเหมือน เพราะไม่สามารถเทียบกับต้นแบบได้ว่าเหมือนกับอะไร ตัวละครใด


เกณฑ์การให้คะแนนของ World Cosplay Summit ก็มีพูดถึงคะแนน Respect to the Original หรือจะกล่าวว่าเป็นคะแนนความเหมือนต่อต้นฉบับก็ว่าได้

 

หากเปรียบเทียบสองสิ่งนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าคอสเพลย์ออริจินอลจะมีความคล้ายกับแฟนซีมากกว่า นั่นคือเวลาขึ้นประกวดคอสเพลย์ คำถามคือ จะสามารถให้คะแนนความเหมือนได้หรือไม่ เพราะตัวละครที่คอสเพลย์มานั้น ไม่มีต้นแบบแต่เดิม เพียงแต่คิดขึ้นมาเอง?

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay
หากจุดศูนย์กลางของวงกลมคือหัวใจของนิยาม คอสเพลย์ออริจินอลน่าจะอยู่ตรงจุดที่วงกลมนั้นเหลื่อมซ้อนระหว่าง คอสเพลย์ และ แฟนซี แต่จะเบี่ยงไปทางไหนมากกว่า นั้นอาจจะต้องสังเกตเพิ่มเติม

.
.

แต่อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นไป
คอสเพลย์ ออริจินอลนั้นยังเป็นนิยามที่ยังไม่ชัดเจน ก็ยังมีอีกหนึ่งแนวความคิดหนึ่ง ได้นิยาม คอสเพลย์ออริจินอล ได้น่าสนใจ
นั่นคือ
“การแต่งกายเลียนแบบตัวละครหนึ่ง โดยที่ออกแบบดัดแปลงบางส่วนคิดขึ้นมาเอง แต่ก็คงเอกลักษณ์ตัวละครไว้”

ในจุดนี้จะสังเกตเห็นว่า มีการรวมจุดเด่นของทั้งแฟนซี และ คอสเพลย์ชัดเจน นั่นคือ “ความเหมือน” และ “ดัดแปลงออกแบบเอง”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดหากให้เห็นภาพ ก็คงต้องเป็นตัวละคร “โดราเอมอน”


ตัวละคร โดราเอมอน

แน่นอนว่า การจะแต่งตัวเลียนแบบ โดราเอมอนนั้น จะต้องทำหัวกลม ๆ ตัวกลม ๆ มือกลม ๆ ขาสั้น ๆ ตามตัวละคร
บางครั้ง ก็มีการทำชุดออกมาให้เหมือนต้นแบบจริง ๆ จัง ๆ ไปเลย

แต่ในบางครั้ง บางคนก็เลือกที่จะดัดแปลงชุดบางส่วน และหยิบเอกลักษณ์บางส่วนมาผสมผสานกัน
โดยที่เมือออกมาแล้ว จะไม่เหมือนต้นแบบ 100% แต่ก็สามารถดูแล้วรู้ได้ว่า กำลังคอสเพลย์โดราเอมอนนั่นเอง

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay
คอสเพลย์โดราเอมอน จะเห็นว่าจะมีเอกลักษณ์ของโดราเอมอนอยู่
และมีส่วนที่แต่ละคนออกแบบดัดแปลงเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

ในตรงจุดนี้ คำว่า คอสเพลย์ออริจินอล ดูจะใกล้เคียงกับความหมายของคำมากกว่า
ทว่าการแต่งกายแบบนี้ ที่ไม่นิยมเรียกว่า คอสเพลย์ออริจินอลนั้น เพราะส่วนหนึ่งก็ถือว่า เป็นการคอสเพลย์โดยตรงไปเลย ไม่้ได้ใช้คำแยกย่อยออกมานั่นเอง

จริง ๆ แล้วโลกของแฟชั่น แฟนซี คอสเพลย์นั้น เป็นอะไรที่สัมผัสได้ง่าย แต่อธิบายให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจนได้ยาก ยากที่จะสรุปนิยามให้แน่่ชัด แต่จริง ๆ แล้ว ในทุกศัพท์นั้นล้วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดทางหนึ่งอยากหลีกเลี่ยงไมไ่ด้

เหมือนกับศิลปิน อย่าง Lady Gaga
ที่ชุดแต่งกายของเธอนั้นเป็นแฟชั่นที่ไม่ธรรมดา จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นแฟนซี
และก็มีเหล่าแฟนเพลง ที่อยากจะแต่งกายให้ชุดออกมาคล้าย ๆ กลายเป็นสไตล์ Lady Gaga แต่บางครั้งก็เป็นยิ่งกว่าเพียงชุดที่เหมือน มีการใส่บุคลิกและท่าทาง จนกลายเป็น Cosplay Lady Gaga

ความเหมือนและต่างใน Fashion, Fancy และ Cosplay

แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะแฟชั่น แฟนซี คอสเพลย์ รวมไปถึงคอสเพลย์ ออริจินอล ก็ล้วนแต่เป็นการแบ่งประเภทเพื่อให้มีความชัดเจนในการแต่งกายแต่ละแบบ ไม่ว่าแต่ละคนจะชอบแบบไหน จะแฟชั่น จะแฟนซี หรือจะคอสเพลย์ ไม่ก็คิดมาเองแบบออริจินอล ขอให้มีความสุข สนุกที่จะทำก็มากเพียงพอแล้ว

นี่แหละคือโลกแห่งแฟชั่น แฟนซี และคอสเพลย์
เราอาจจะเห็นชุดคอสเพลย์ในงานแฟนซี หรือ อาจจะเห็นชุดแฟนซีในงานคอสเพลย์ ก็ไม่ใช่สิ่งแปลก หากเพราะ ต่างก็มีจุดสัมพันธ์กัน
ต่างอย่าง ต่างเอกลักษณ์ แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างพัฒนา เหมือนเป็นรากต้นไม้ต้นเดียวกัน ที่เพียงแตกรากแขนงออกมา ต่างพัฒนา ไปในทางของตัวเอง

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
Wikipedia Cosplay
– รูปประกอบจาก squidoo.com
– รูปประกอบ Kilt en.wikipedia.org/wiki/Kilt
– รูปประกอบ onlinelive.in
CosplayWiki คอสเพลย์ออริจินอล

ขออนุญาตและขอขอบคุณ คอสเพลย์เยอร์ทุก ๆ ท่านสำหรับรูปประกอบบทความครับ
ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นนะครับ ท้ายสุดอยากจะกล่าวว่า แต่ละนิยามนั้นก็ล้วนไม่มีข้อสรุปตายตัว แต่ละท่านล้วนมีมุมมองแตกต่างกัน ท่านสามารถเสริมเพิ่มเติม หรือ แนะนำ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่แตกต่างกันได้เสมอนะครับ

 

.



Comment Here


เลือกช่องทางในการคอมเมนต์ด้านล่าง

  • Facebook(0)
  • WordPress(0)
  • Google Plus()

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.